นนทบุรี 22 ก.ค. – ไทยเป็นเจ้าภาพประชุมอาร์เซ็ป ครั้งที่ 23 ตั้งเป้าเจรจาจบ 3 เรื่องสำคัญ เร่งผลักดันหวังให้จบการเจรจาภายในปีนี้ ด้านรัฐบาลไทยเน้นย้ำให้อาร์เซ็ปเป็นเครื่องมือขยายการค้าลงทุนในภูมิภาค และรับมือประเทศมหาอำนาจในสงครามการค้าที่นับวันทวีคูณขึ้น
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศให้เข้าร่วมเป็นหัวหน้าคณะเจรจาในการประชุมคณะกรรมการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซ็ป ครั้งที่ 23 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระหว่างวันที่ 17 – 27 กรกฎาคม 2561 ณ กรุงเทพฯ โดยจะมีการหารือระดับคณะทำงานหรือคณะทำงานกลุ่มย่อยอีก 14 คณะพร้อมกัน ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประมาณ 800 คน จากประเทศสมาชิกทั้งหมด 16 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์
นายรณรงค์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีการประชุมรัฐมนตรีอาร์เซ็ป สมัยพิเศษ ครั้งที่ 5 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งรัฐมนตรีจาก 16 ประเทศเห็นตรงกันเร่งวันสรุปผลการเจรจาจัดทำความตกลงอาร์เซ็ปให้เสร็จภายในปีนี้ โดยตั้งเป้าว่าการประชุมรอบกรุงเทพฯ คณะเจรจาจะต้องสรุปและปิดการเจรจาใน 3 เรื่องสำคัญ คือ พิธีการศุลกากร มาตรฐานสุขอนามัยพืชและกฎระเบียบทางเทคนิค นอกจากนี้ คณะกรรมการเจรจาจะต้องเร่งสรุปประเด็นที่ยังตกลงกันไม่ได้ เพื่อนำเสนอให้รัฐมนตรีพิจารณาให้ได้ข้อยุติในการประชุมรัฐมนตรีอาร์เซ็ป ครั้งที่ 6 ปลายเดือนสิงหาคม 2561 ประเทศสิงคโปร์ ก่อนที่จะรายงานผลต่อผู้นำในการประชุมสุดยอดอาเซียนเดือนพฤศจิกายน 2561
นายรณรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับ 3 เรื่องสำคัญที่จะต้องสรุปการเจรจายังมีหลายประเด็นที่ติดปัญหา เช่น 1.การตรวจปล่อยสินค้าและคำวินิจฉัยล่วงหน้าเรื่องพิธีการศุลกากร 2.การใช้มาตรการฉุกเฉินและการจัดทำเอกสารเป็นภาษาอังกฤษในเรื่องมาตรฐานสุขอนามัยพืช และ 3.กระบวนการตรวจสอบรับรองและความโปร่งใสเรื่องกฎระเบียบทางเทคนิค เป็นต้น ซึ่งจะต้องมีการหารืออย่างเข้มข้น เพื่อปิดการเจรจาให้ได้ในรอบกรุงเทพ นอกจากนี้ ทุกประเทศจะต้องยื่นปรับปรุงข้อเสนอเปิดตลาดสินค้า บริการ และการลงทุน ให้ดีขึ้น โดยจะต้องเป็นข้อเสนอเปิดตลาดที่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของสมาชิกให้มากที่สุด รวมถึงเรื่องอื่น ๆ ที่เหลือ เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การเยียวยาทางการค้า การเงิน โทรคมนาคม ที่จะต้องให้การเจรจามีความคืบหน้ามากที่สุดด้วย
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยมีนโยบายชัดเจนต้องการให้ความตกลงอาร์เซ็ปเป็นเครื่องมือขยายการค้าในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยให้มีการไหลเวียนทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิกและสร้างพลังต่อสู้กับประเทศมหาอำนาจในสงครามทางการค้าที่นับวันจะทวีคูณขึ้น รัฐบาลชุดนี้ยังเน้นย้ำถึงการใช้ประโยชน์อย่างเร่งด่วนทั้งการส่งออกสินค้าและภาคธุรกิจบริการ รวมถึงการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ดังนั้น การประชุมอาร์เซ็ปที่ไทยเป็นเจ้าภาพครั้งนี้จะร่วมผลักดันให้สรุปการเจรจาได้มากที่สุด เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามนโยบายของรัฐบาล
สำหรับการประชุมครั้งนี้ จะมีวาระพิเศษเปิดให้ผู้แทนทั้งจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคม (NGOs) ของหลายประเทศจากหลายสาขา อาทิ สาขาสุขภาพ สาขาเกษตร สิทธิสตรี และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ สามารถเข้ามาแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในที่ประชุมฯ ซึ่งจะมีหัวหน้าคณะเจรจาจาก 16 ประเทศสมาชิกอาร์เซ็ปเข้าร่วมรับฟัง ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อสนทนาระหว่างกัน ในส่วนของประเทศไทยให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะและสังคมอย่างโปร่งใสมาตลอด จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะมีผู้เข้าร่วมทั้งจากภาคธุรกิจและ NGOs จำนวนมากมาร่วมกันให้ข้อคิดเห็นเพื่อผลักดันการเจรจาในทุกมิติ ซึ่งสะท้อนความเห็นจากทุกภาคส่วน
“การประชุมครั้งนี้ไทยหวังว่าจะสามารถคลี่คลายประเด็นที่เป็นปัญหาต่าง ๆ ได้และเร่งผลักดันให้การเจรจาจบภายในปีนี้ ไทยเล็งเห็นว่าการสรุปผลการเจรจาอาร์เซ็ปเพื่อให้ความตกลงมีผลบังคับใช้โดยเร็ว จะช่วยขยายการค้าการลงทุนของไทย และผู้ประกอบการจะสามารถใช้สิทธิประโยชน์ในการเข้าถึงตลาดสำคัญที่เป็นสมาชิกอาร์เซ็ปได้อย่างเท่าทันสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศในปัจจุบันได้อีกด้วย” นายรณรงค์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย