นนทบุรี 4 ก.พ. – อินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะกรรมการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP-TNC) เร่งเดินหน้าเจรจาให้มีความคืบหน้าโดยเร็ว
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หัวหน้าผู้แทนไทยในการประชุม RCEP-TNC ครั้งที่ 21 ระหว่างวันที่ 2-9 กุมภาพันธ์ เมืองยอกยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า ปีนี้จะเป็นปีที่มีความสำคัญมาก หลังจากการเจรจา RCEP ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีความคืบหน้าแบบค่อยเป็นค่อยไป สมาชิกอาเซียนจึงเห็นพ้องที่จะต้องเร่งรัดการเจรจาให้เป็นไปตามที่ผู้นำ RCEP ได้มาพบกันเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2560 ณ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ โดยได้มอบหมายให้รัฐมนตรีและคณะเจรจาเพิ่มความพยายามเจรจาปี 2561 ดังนั้น ตั้งแต่ต้นปี 2561 อาเซียนจึงมีการประชุมทั้งระดับคณะกรรมการและรัฐมนตรี เพื่อร่วมแสดงบทบาทนำที่จะผลักดันให้สรุปผลภายในปีนี้อย่างชัดเจน โดยจะปรับกลยุทธ์การเจรจากับประเทศคู่เจรจาแต่ละประเทศ รวมทั้งจะกำหนดเป้าหมายการเจรจาอย่างชัดเจนแต่ละประเด็น สำหรับคณะทำงานและคณะทำงานกลุ่มย่อย เพื่อให้เจรจาบรรลุผลสำเร็จตามแนวทางที่กำหนดไว้
นายรณรงค์ กล่าวว่า การประชุม RCEP-TNC ครั้งนี้เป็นครั้งแรกในปี 2561 ซึ่งจะเน้นการเจรจาประเด็นหลัก ได้แก่ การค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน โดยอาเซียนจะเสริมการหารือแบบทวิภาคีกับประเทศคู่เจรจา เพิ่มจากการเจรจา TNC ตามปกติ เพื่อให้การเจรจามีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีความตั้งใจที่จะผลักดันให้ประเทศคู่เจรจายอมรับข้อเสนอรูปแบบการเปิดตลาดสินค้าของอาเซียน คือ ยกเลิกอัตราศุลกากรร้อยละ 92 ของรายการทั้งหมด และมูลค่านำเข้าภายในเวลา 15 ปี บนพื้นฐานของการยกเลิกภาษีสินค้าเดียวกันให้แก่ทุกประเทศอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงข้อเสนอรูปแบบการเปิดตลาดในสินค้าส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 8 ซึ่งเป็นข้อเสนอใหม่เพิ่มของอาเซียน เพื่อผลักดันให้การเจรจาครอบคลุมสินค้าทั้งหมด ซึ่งหวังว่าประเทศคู่เจรจาจะตอบสนองเชิงบวกและปรับปรุงข้อเสนอการเปิดตลาดให้ดีขึ้นกว่าเดิม ในรอบนี้จะมีการเจรจาเรื่องกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าด้วย ซึ่งกรมฯ มองว่า RCEP จะช่วยปรับประสานอัตราภาษีศุลกากรและกฎกติกาให้สอดคล้องกัน ทำให้เข้าสู่ตลาดขนาดใหญ่ง่ายและสะดวกมากขึ้น ทั้งนี้ ท่าทีของประเทศคู่เจรจาและผลสำเร็จที่ได้จากการประชุมครั้งนี้จะเป็นตัวกำหนดว่าการเจรจา RCEP จะสามารถบรรลุผลได้ตามเจตนารมณ์ของผู้นำหรือไม่
นายรณรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจาก RCEP เป็นความตกลงที่ทันสมัยและครอบคลุมประเด็นการเจรจาอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะประเด็นใหม่ ๆ ที่ไทยยังไม่เคยมีความตกลงมาก่อน เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การแข่งขัน ทรัพย์สินทางปัญญา และการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ เป็นต้น กรมฯ เล็งเห็นความสำคัญจึงได้จัดประชุมหารือเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2561 โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ทั้งจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย รวมถึงผู้แทนจากภาคประชาสังคม โดยที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการเจรจา รวมถึงข้อกังวลของภาคประชาสังคมเกี่ยวกับขอบเขตของกระบวนการระงับข้อพิพาทและสินค้าที่จะอยู่ในข้อเสนอเปิดตลาด
ทั้งนี้ ไทยมีมูลค่าการค้ารวมกับสมาชิก RCEP ปี 2559 จำนวน 240,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 59.32 ของมูลค่าการค้าไทยกับโลก โดยไทยเล็งเห็นประโยชน์ในการขยายตลาดสินค้าไทยไปยังประเทศสมาชิก เช่น จีน อินเดีย และญี่ปุ่น ที่ยังมีกำแพงภาษีสูง โดยเฉพาะกับสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูป ซึ่งประเทศสมาชิก RCEP ต้องลดหรือยกเลิกภาษีนำเข้าให้เป็นศูนย์หรือน้อยที่สุด หากการเจรจาสำเร็จจะทำให้สินค้าของไทยเข้าสู่ตลาดดังกล่าวด้วยอัตราภาษีที่ต่ำอย่างมาก จึงถือเป็นโอกาสการขยายตลาดให้กับสินค้าไทย.-สำนักข่าวไทย