ก.แรงงาน 18 ก.ค.-คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเละสภายุโรปฝากไทย ดูเเลเเละคุ้มครองเเรงงานเด็กเเละเเรงงานประมงเป็นพิเศษ เร่งรัดจดทะเบียนเเรงงานต่างด้าวให้ครบ1.3 ล้านคน พร้อมกำชับให้ช่วยเหลือลูกจ้างที่ถูกนายจ้างกระทำ
พล.ต.อ.อดุลย์ เเสงสิงเเก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับเเละร่วมหารือกับนายPier Antonio Panzeri ประธานคณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนเเละคณะสมาชิกสภายุโรป ที่เดินทางมาเยี่ยมคารวะเเละหารือข้อราชการด้านแรงงาน ในประเด็นสิทธิเเรงงานในประเทศไทย การดำเนินการบริหารจัดการเเรงงานต่างด้าว การส่งเสริมมาตรฐานเเรงงานไทย เเรงงานประมงเเละความร่วมมือกับสหภาพยุโรป โดยใช้เวลาหารือกว่า 1 ชั่วโมง
พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า การหารือครั้งนี้เป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไทยเเละสภายุโรปให้เเน่นเเฟ้นมากขึ้น เพื่อต่อยอดความร่วมมือเชิงนโยบายในอนาคต อาทิ โครงการความร่วมมือทางวิชาการด้านเเรงงานเพื่อยกระดับความคุ้มครองเเรงงานให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน การเเก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ของไทยเพื่อนำไปสู่การจัดอันดับค้ามนุษย์ของไทยจาก Tier 2 ให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้สภายุโรปเเละคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้เเสดงความห่วงใยกรณีเเรงงานต่างด้าว อยากให้เร่งจดทะเบียนเเรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติให้ครบทุกคน หลังได้ดำเนินการไปเเล้วกว่า 1.18 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ90 จากเเรงงานทั้งหมดกว่า 1.3 ล้านคน รวมถึงให้เข้มงวดมาตรการในการดูเเลเเละคุ้มครองแรงงานเด็กเเละเเรงงานประมง ซึ่งตนได้ชี้เเจงว่า ไทยมีระบบเเสกนม่านตา มีระบบPIPO ตรวจสอบเรือใน 22 จังหวัดเเนวชายทะเล ซึ่งถือว่ามีระบบในการคุ้มครองเเละควบคุมเเรงงานประมงที่ถูกกฎหมายอย่างเป็นระบบเเล้ว ขณะเดียวกันทางคณะฯได้สอบถามถึงกรณี National food ที่เกิดขึ้นทั่วโลก หลังลูกจ้างร้องเรียนพฤติกรรมของนายจ้าง เเต่กลับโดนนายจ้างฟ้องร้องกลับ สุดท้ายก็เเพ้คดี จึงฝากให้ไทยดูเเลลูกจ้างกลุ่มที่โดนนายจ้างรังแก โดยขณะนี้ไทยเองเจ้าหน้าที่กรมสวัสดิการคอยดูเเล ซึ่งในหลายกรณีลูกจ้างชนะคดี ทั้งยังมีศาลเเรงงานที่คอยว่าความโดยตรงด้วย เเละเรื่องสุดท้ายฝากให้ดูมาตรการเรื่องเเรงงานต่างด้าวให้เข้ามาทำงานในไทยได้สะดวกขึ้น ซึ่งเรายืนยันชัดเจนว่าเเรงงานต่างด้าวที่เข้ามาต้องถูกกฎหมายผ่านการMou ลงทะเบียนอย่างถูกต้อง เเละได้อำนวยความสะดวกลดขั้นตอนในการเข้ามาในประเทศมากขึ้น
ขณะเดียวกันคณะฯได้ชื่นชมการบริหารจัดการเเรงงานต่างด้าวของไทยที่กระทรวงเเรงงานเเละภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติที่เข้าเมืองผิดกฎหมายให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไทย เพื่อให้เเรงงานทุกคนที่เข้ามาทำงานในไทยได้รับสิทธิตามกฎหมายเเรงงานอย่างเท่าเทียม ขณะเดียวกันยังชื่นชมที่ไทยได้มีการยื่นจดทะเบียนสัตยาบันพิธีสารเสริมอนุสัญญาฯ ฉบับที่29 ว่าด้วยเเรงงานบังคับค.ศ.1930 ต่อ Mr.Guy Ryder ผู้อำนวยการใหญ่ ILO เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา เเละอยู่ระหว่างพิจารณาให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง ค.ศ.2007 ซึ่งสะท้อนว่าไทยมีเจตนารมย์มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมมาตรฐานเเรงงานไทย(TLS 8001-2010) เเละมีเเนวปฏิบัติการใช้เเรงงานที่ดี(GLP)เพื่อให้ลูกจ้างในสถานประกอบการมีคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นไปตามมาตรฐานสากล.-สำนักข่าวไทย