กรุงเทพฯ 27 มิ.ย.-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สั่งชะลอการดำเนินโครงการโคเนื้อสร้างอาชีพ
ระยะที่ 3
ของกรมปศุสัตว์เนื่องจากมีข้อร้องเรียนจากเกษตรกรเกี่ยวกับโคที่ได้รับมอบ
โดยจะรอดูผลสำเร็จของโครงการโคบาลบูรพาเพื่อนำไปเป็นต้นแบบ
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า
ได้สั่งการไปยังกรมปศุสัตว์ให้ชะลอการดำเนินโครงการโคเนื้อสร้างอาชีพระยะที่ 3
เนื่องจากมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับแม่โคที่ส่งมอบให้เกษตรกรนั้นไม่ได้ขนาดรวมถึงมีปัญหาสุขภาพ
อีกทั้งเกษตรกรบางรายไม่มีความพร้อมเรื่องพื้นที่ปลูกหญ้าอาหารโคตามที่กำหนด
สำหรับโครงการฟาร์มโคเนื้อสร้างอาชีพ ระยะที่ 2
ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ มีระยะเวลา 7 ปี ตั้งแต่ปี 2560
– 2567
โดยจะให้เงินกู้ยืมค่าแม่โคเนื้อแก่เกษตรกรที่เป็นสมาชิกองค์กรเกษตรกรต่าง ๆ
รายละไม่เกิน 5 ตัว ๆละ 40,000 บาท
ค่าก่อสร้างและปรับปรุงโรงเรือนรวมถึงทำแปลงหญ้า 5
ไร่รายละไม่เกิน 50,000 บาท
นายกฤษฎา กล่าวอีกว่า โครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อของกรมปศุสัตว์ยังมีโครงการโคบาลบูรพาอีกโครงการหนึ่งซึ่งดำเนินการในจังหวัดสระแก้ว
ได้กำชับรักษาราชการแทนอธิบดีกรมปศุสัตว์ให้เข้มงวดการตรวจรับโคจากบริษัทที่จัดซื้อจัดจ้างให้ได้ขนาดตามที่กำหนดและมีสุขภาพดี
เกษตรกรที่จะได้รับโคต้องมีพื้นที่ปลูกหญ้าเพื่อลดต้นทุนค่าอาหารซึ่งหากโครงการโคบาลบูรพาดำเนินการเรียบร้อยจึงจะให้เป็นต้นแบบของการดำเนินการโครงการฟาร์มโคเนื้อสร้างอาชีพ
ระยะที่ 3 ต่อไป
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต รักษาราชการแทนอธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า
เกษตรกรในอำเภออรัญประเทศ อำเภอโคกสูง และอำเภอวัฒนานครที่เข้าร่วมโครงการโคบาลบูรพามี
6,200 ราย
มีจำนวนแม่โคที่ต้องส่งมอบให้เกษตรกรทั้งหมดประมาณ 32,000
ตัว ส่งมอบแล้ว จำนวน 11,693 ตัว
ในกรณีที่แม่โคบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยจากการขนส่ง
บริษัทคู่สัญญาได้ดำเนินการส่งมอบแม่โคไปทดแทนแล้ว ยังคงเหลืออีก 18,307 ตัวซึ่งกรมปศุสัตว์เข้มงวดในการตรวจรับโดยแม่โคจะต้องมีขนาดตามที่กำหนดในสัญญาและมีสุขภาพดี
กรมปศุสัตว์ได้กำชับให้บริษัทคัดเลือกแม่โคและทำแผนส่งมอบว่า จะส่งเดือนละกี่ตัว
โดยจะต้องส่งมอบให้ครบในเดือนตุลาคม ส่วนการส่งมอบแพะนั้น ส่งมอบไปแล้ว 3,200 ตัวครบตามเป้าหมาย
โครงการโคบาลบูรพาเป็นโครงการเพิ่มปริมาณโคเนื้อและแพะป้อนตลาดทั้งในและต่างประเทศ
เกษตรกรได้รับแม่โคเนื้อรายละ 5 ตัว
กรมปศุสัตว์เข้าไปส่งเสริมเรื่องการขยายพันธุ์ทั้งการผสมเทียมและเตรียมพ่อโคพันธุ์ดีไว้ให้
เมื่อได้ลูกเพศเมียส่งคืนให้โครงการ 5
ตัวเพื่อให้เกษตรกรรายใหม่ยืมไปเลี้ยง โดยเกษตรกรต้องมีพื้นที่ปลูกพืชอาหารสัตว์เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต
มีเป้าหมายให้ปลูกพืชอาหารสัตว์ของโคเนื้อ 3,406 ราย รวม 17,303 ไร่ และแปลงหญ้าสำหรับแพะเนื้อ 100 ราย รวม300 ไร่ซึ่งจะเร่งดำเนินการให้เกษตรกรปลูกให้ครบภายในเดือนกรกฎาคม
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของโครงการโคบาลบูรพาและโคเนื้อสร้างอาชีพนั้นมุ่งหวังจะให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมปรับเปลี่ยนมาเลี้ยงปศุสัตว์ซึ่งเป็นอาชีพที่มีความยั่งยืนได้และเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศ
ขณะนี้มีความพร้อมด้านการเชื่อมโยงตลาดโดยประสานกับผู้ประกอบการในพื้นที่ปศุสัตว์เขต
2 ได้แก่
สหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อ จำกัด ปกรณ์ฟาร์ม บริษัทซ้อคโกแลตเค็ก จำกัด
บริษัทพรีเมี่ยมบีฟ จำกัด และบริษัท สยามบีฟ จำกัด
โดยจะดำเนินการจำหน่ายผ่านรูปแบบสหกรณ์ในโครงการโคบาลบูรพาและเตรียมจะจัดทำ MOU
ระหว่างกันเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกษตรกรว่า
โคเนื้อที่เลี้ยงจะมีตลาดรับซื้อแน่นอน–สำนักข่าวไทย