กรุงเทพฯ 27 มิ.ย. – บล.เอเซีย พลัส ชี้สงครามการค้าโลก-ดอกเบี้ยขาขึ้น ฉุดหุ้นไทยปีหน้ามีโอกาสต่ำกว่า 1,500 จุด กระทบกำไรบจ.ลดวูบร้อยละ 20
นางภรณี ทองเย็น รองกรรมการผู้อำนวยการ สายวิจัย บล.เอซีย พลัส กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 61 ตลาดหุ้นทั่วโลกยังได้รับแรงกดดันจากจากสงครามการค้าโลกที่ขยายกว้าง โดยขณะนี้ไม่ใช่แค่สหรัฐฯกับจีนเท่านั้นที่เป็นคู่พิพาทกัน แต่สหรัฐฯยังเปิดศึกการค้ากับยุโรป เม็กซิโก และแคนาดา ทำให้หลายประเทศดังกล่าว ตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยการเตรียมขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ จากการศึกษาของธนาคารโลกประเมินว่าการกีดกันทางการค้าทุก ๆ 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะกระทบต่อการค้าโลกปี 61 หดตัวร้อยละ 9 จากปีก่อนที่มูลค่าการค้าโลกอยู่ที่ 38 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ขณะที่วงเงินกีดกันการค้าจากสหรัฐฯอาจขึ้นไปแตะ 250,000ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ผลกระทบรุนแรงขึ้นกดดันการค้าโลกชะลอลง และจะมีผลกระทบต่อผบการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกได้ ซึ่งคาดว่าจะเห็นผลกระทบชัดเจนในปี 2562 ซึ่งหากภาพรวมกำไรของบริษัทจดทะเบียนลดลงร้อยละ 10 ดัชนีหุ้นไทยเป้าหมายปี 2562 จะอยู่ที่ 1,668.81 จุด ถ้ากำไรลดลงร้อยละ 15 ดัชนีจะอยู่ที่ 1,576.10 จุด และหากกำไรลดลงร้อยละ 20 ดัชนีจะอยู่ที่ 1,483.39 จุด ส่วนคาดการณ์กำไรตลาดปีนี้ปรับลดลง อยู่ที่ 110.70 บาท/หุ้น จากประมาณการเดิม 112.39 บาท/หุ้น คาดว่ามีโอกาสที่ดัชนีจะไม่ถึงระดับเป้าหมายในช่วงสิ้นปีนี้ ที่ 1,772 จุด
สำหรับในช่วงที่เหลือของปีนี้มองว่าแนวโน้มของกระแสเงินทุนยังไหลออกต่อเนื่อง เพราะคาดว่าสหรัฐฯจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยสหรัฐ-ไทย มีมากขึ้น ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยสหรัฐอยู่ที่ร้อยละ 2 สูงกว่าดอกเบี้ยนโยบายไทยที่ร้อยละ 1.50 ส่งผลให้เงินทุนยังไหลออก กดดันเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่ามาต่อเนื่อง อาจถึง 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ และจะเป็นแรงกดดันให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ในปีนี้ ทำให้ดอกเบี้ยไทยปรับขึ้นเป็นร้อยละ 1.75
“แรงขายหุ้นในภูมิภาคน่าจะจำกัดลง สะท้อนจากการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ ณ สิ้นเดือน พ.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 23.2 รวมกับการถือผ่าน NVDR อีกร้อยละ 7.01เป็นร้อยละ 30.20 ถือว่าต่ำมาก เมื่อเทียบกับระดับสูงสุดที่ร้อยละ 36.88เมื่อสิ้นเดือนมี.ค. 2555 สอดคล้องกับสถิติย้อนหลัง 10 ปี พบว่าไตรมาส 3/61 ต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยเฉลี่ยเล็กน้อย 771 ล้านบาท”นางภรณีกล่าว
สำหรับคำแนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนเป็นร้อยละ 40 ของพอร์ต จากเดิมร้อยละ 30 เน้นหุ้นที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น เช่น กลุ่มธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ที่จะได้รับประโยชน์จากความคืบหน้าการลงทุนภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชน ที่มีสัญญาณดีขึ้น ขณะที่ให้หลีกเลี่ยงหุ้นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า .- สำนักข่าวไทย