กรุงเทพฯ 27 มิ.ย. – ธ.ก.ส. คาดมีผู้เข้าร่วมโครงการบัตรเกษตรสุขใจ กว่า 800,000 ราย ภายในกลางเดือน ก.ค. นี้พร้อมหารือ 3 กระทรวงกำหนดแผนการผลิตฤดูกาลหน้า
นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการ เกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวถึงความคืบหน้า โครงการ “บัตรเกษตรสุขใจ” เพื่อลดต้นทุนปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตร วงเงินสินเชื่อ 9 หมื่นล้านบาท ว่า ขณะนี้เริ่มมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้ว 20,000 – 30,000 ราย โดย 2 สัปดาห์ต่อจากนี้ ธ.ก.ส. จะเดินหน้าลงพื้นที่ทำความเข้าใจและประชาสัมพันธ์กับเกษตรกร คาดภายในกลางเดือนกรกฎาคมนี้จะมีผู้เข้าร่วมโครงการ 800,000 ราย โดยปัจจุบันมีผู้ถือ“บัตรสินเชื่อเกษตรกร” ในรูปแบบชิปการ์ด ประมาณ 1.5 ล้านใบ คาดจะทยอยเปลี่ยนมาถือบัตรเกษตรสุขใจทั้งหมดภายในเดือนตุลาคมนี้ พร้อมตั้งเป้าหมายเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 3 ล้านราย
ทั้งนี้ โครงการ “บัตรเกษตรสุขใจ” เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร ซึ่งเป็นบัตรสินเชื่อที่มีรหัสคิวอาร์โค้ด ให้เกษตรกรนำบัตรไปใช้จ่ายซื้อปัจจัยการผลิต ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช เมล็ดพันธุ์ น้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องจักรกลหรือเครื่องมือการเกษตรขนาดเล็ก และปัจจัยอื่นๆ ที่จำเป็น เช่น ข้าวสาร จากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการกว่า 1.7 หมื่นร้านค้าทั่วประเทศ อาทิ ร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตของสหกรณ์การเกษตร ร้านที่ขึ้นทะเบียนไว้กับโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกรของ ธ.ก.ส. ร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตคุณภาพประชารัฐ และร้าน คิว-ช้อป ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมวิชาการเกษตร จากนั้นร้านค้าจะใช้แอปพลิเคชั่น ธ.ก.ส. A-Shop ในการอ่านคิวอาร์โค้ดเพื่อหักวงเงินจากบัตรไป โดยเกษตรกรจะได้รับวงเงินรายละไม่เกิน 30,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 (ปัจจุบัน MRR เท่ากับ 7% ต่อปี)
ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรที่ปีนี้มีทิศทางที่ดี คือ ข้าวหอมมะลิ ข้าวโพด มันสำปะหลัง ส่วนสับปะรดที่ราคาตกต่ำนั้น กระทบเกษตรกรผู้ปลูกนั้น ธ.ก.ส. ก็พร้อมช่วยเหลือผ่อนผันการชำระหนี้ให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ พร้อมเตรียมหารือร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อร่วมกำหนดแผนการผลิตในฤดูกาลถัดไป ซึ่ง ธ.ก.ส. จะวางแผนสนับสนุนสินเชื่อต่อไป. – สำนักข่าวไทย