กรุงเทพฯ 24 มิ.ย.- นิด้าโพลเผยประชาชนส่วนใหญ่อยากให้มีโทษประหารชีวิตต่อไป
เชื่อจะทำให้อาชญากรรมลดลง และ
กลุ่มคดีฆ่าข่มขืนอยากให้รับโทษมากที่สุด
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง โทษประหารชีวิต ควรหยุดหรือไปต่อ
โดยสำรวจจากประชาชน จำนวน 1,251 หน่วยตัวอย่าง
จากการสำรวจเมื่อถามถึงบทลงโทษที่ผู้กระทำความผิดในคดีร้ายแรงควรได้รับ
ระหว่าง โทษจำคุกตลอดชีวิตหรือ โทษประหารชีวิต พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 80.50
ระบุว่า โทษประหารชีวิต ร้อยละ 18.86 ระบุว่า โทษจำคุกตลอดชีวิต
ส่วน บทลงโทษประหารชีวิต จะทำให้กระบวนการยุติธรรมไทย
มีความศักดิ์สิทธิ์หรือน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้นหรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ
85.29 ระบุว่า ทำให้มีความศักดิ์สิทธิ์และน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้น เพราะ
แสดงให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยมีความเด็ดขาด ทำให้ประชาชนเกรงกลัว ไม่กล้าที่จะกระทำความผิดอีก
ขณะที่ ร้อยละ 12.07 ระบุว่า ไม่ได้ทำให้มีความศักดิ์สิทธิ์ และน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้น
เพราะ กระบวนการยุติธรรมไม่มีความโปร่งใส มีช่องโหว่ทางกฎหมาย
และการปฏิบัติหน้าที่ก็ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
นอกจากนี้ประชาชน ร้อยละ 79.05 ระบุว่า โทษประหารชีวิต
จะทำให้คดีอาชญากรรมลดลง /รองลงมา ร้อยละ 15.83 ระบุว่า
จะทำให้คดีอาชญากรรมเท่าเดิม และ ร้อยละ
2.88 ระบุว่า จะทำให้คดีอาชญากรรมเพิ่มขึ้น
พร้อมกันนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 92.49 ระบุว่า ควรมีโทษประหารชีวิตต่อไป เพราะ
เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย
และเป็นบทเรียนเตือนใจให้แก่ผู้กระทำความผิดหรือคิดจะกระทำความผิด มีความเกรงกลัว
เพื่อลดปัญหาอาชญากรรม และเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับครอบครัวที่สูญเสีย
และร้อยละ 7.51 ระบุว่า ไม่ควรมีโทษประหารชีวิตต่อไป เพราะ
ไม่ได้ทำให้คดีอาชญากรรมลดลง ควรให้โอกาสสำหรับผู้ที่กระทำผิด
เนื่องจากบางคนอาจจะทำเพราะเหตุบันดาลโทสะ หรือไม่ได้เจตนา ขณะที่บางส่วนระบุว่า
ให้จำคุกตลอดชีวิตน่าจะดีกว่า
และคดีที่ผู้กระทำผิดสมควรได้รับโทษประหารชีวิตมากที่สุด
พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.45 ระบุว่า เป็นคดีฆ่าข่มขืน
(ข่มขืนแล้วฆ่าหรือรุมโทรมจนเสียชีวิต) ร้อยละ 23.95 ระบุว่า เป็นผู้ที่กระทำผิดซ้ำในคดีที่ร้ายแรง
เช่น ฆ่าคนตาย ข่มขืน ร้อยละ 16.68 ระบุว่า เป็นคดีฆ่าคนตายโดยเจตนา ร้อยละ 2.42
ระบุว่า เป็นคดียาเสพติด ร้อยละ 0.95 ระบุว่า เป็นคดีก่อการร้าย ร้อยละ 0.86 ระบุว่า เป็นคดีทุจริตคอร์รัปชัน.-สำนักข่าวไทย