กรุงเทพฯ 16
มิ.ย.-ผู้อำนวยการสถาบันอัญมณีฯ ระบุผลสำรวจของสมาพันธ์อัญมณีและเครื่องประดับโลกพบเพชรสังเคราะห์ท้องตลาดเพิ่มมากขึ้น แนะไม่มั่นใจตรวจสอบถามหาใบรับรองก่อนซื้อ
นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ
(องค์การมหาชน) หรือจีไอที เปิดเผยว่า
ในการประชุมสามัญประจำปีของสมาพันธ์อัญมณีและเครื่องประดับโลก (CIBJO) เมื่อเร็วๆนี้ได้มีการรายงานและตั้งข้อสังเกตว่าในปัจจุบันพบปริมาณเพชรสังเคราะห์เพิ่มขึ้นในท้องตลาดเป็นอย่างมาก
โดยการนำอัญมณีชนิดอื่นที่มีลักษณะคล้ายเพชรมาใช้เลียนแบบเพชร
โดยอัญมณีเลียนแบบจะมีทั้งกลุ่มอัญมณีธรรมชาติ เช่น เพทายไร้สี แซปไฟร์ไร้สี
และเพชรสังเคราะห์ที่ทำขึ้นมา ซึ่งอัญมณีทดแทนและเพชรสังเคราะห์เหล่านี้มีราคาไม่สูง
ผู้บริโภคมักจะซื้อมาใช้ประดับเพื่อความสวยงาม แต่ไม่นิยมเก็บเป็นทรัพย์สิน
ทั้งนี้
ยอมรับว่าในปัจจุบันการผลิตเพชรสังเคราะห์มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
จากการพัฒนาทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว
ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพชรสังเคราะห์ต่ำลงอย่างมาก ทำให้มีผู้นำเพชรสังเคราะห์มาจำหน่ายในตลาดมากขึ้น
แม้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่ทำให้มีทางเลือกในการเลือกซื้อได้มากขึ้น
แต่เพชรที่เลือกซื้อเป็นเพชรแท้ เพชรสังเคราะห์
หรืออัญมณีทดแทนอาจจะมีปัญหาในภายหลังได้ จึงต้องระวัง ดังนั้น ในการซื้อขายเพชร
มีการปะปนของเพชรสังเคราะห์กับเพชรธรรมชาติ โดยเฉพาะเพชรที่มีขนาดเล็กหรือเพชรมีลี
ที่ซื้อขายกันครั้งละหลายเม็ดสามารถนำมาตรวจสอบได้ที่จีไอที
ซึ่งมีห้องปฏิบัติการตรวจสอบระดับมาตรฐานสากล
สามารถตรวจสอบแยกเพชรธรรมชาติออกจากเพชรสังเคราะห์
และยังได้รับใบรับรองจากจีไอทีช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ทั้งกับผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่จะได้สินค้าดีมีคุณภาพ
อย่างไรก็ตาม
พลอยสีที่มีการค้าขายกันในปัจจุบันพบว่า มีการปรับปรุงคุณภาพโดยการเผาพลอย
หรือที่เรียกกันติดปากว่า การหุงพลอย
ซึ่งเป็นการใช้ความร้อนในการเปลี่ยนสีหรือเพิ่มความสะอาดของเนื้อพลอย
ทำให้พลอยสวยงามขึ้น และมีจำนวนมากกว่าพลอยที่ไม่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพ
ซึ่งหายากและมีราคาสูง โดยการซื้อขายพลอยที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพ
ผู้ขายต้องระบุให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้บริโภคได้ทราบถึงความเป็นมาของอัญมณี
แต่หากไม่แน่ใจ ทั้งผู้ขาย ผู้บริโภค ก็ควรจะนำไปตรวจสอบก่อน
เพราะการปรับปรุงคุณภาพอาจจะตรวจด้วยตาเปล่าไม่ได้
ต้องใช้การตรวจสอบผ่านห้องปฏิบัติการ โดยพลอยที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพด้วยการเผา
มีหลายประเภท เช่น ทับทิม ไพลิน เขียวส่อง บุษราคัม แทนซาไนต์ อะความา-รีน
ทัวร์มาลีน และเพทาย และยังมีการย้อมสี การอาบรังสี การใส่สารโพลีเมอร์
ซึ่งวิธีการปรับปรุงคุณภาพในแต่ละแบบขึ้นอยู่กับชนิดของพลอย โดยการย้อมสี
เหมาะกับหยก เทอร์คอยส์ ลาปิสลาซูรี การอาบรังสี เหมาะกับโทแพสสีฟ้า ทัวร์มาลีนสีแดงชนิดรูเบลไลท์ เบริลสีทอง
เป็นต้น ส่วนการปรับปรุงคุณภาพด้วยการใส่สารโพลีเมอร์ เช่น น้ำมัน
ให้เข้าไปอุดตามรอยแตกร้าวในพลอยเพื่อบดบังรอยแตกและทำให้พลอยสวยขึ้น พบมากในมรกต
และ หยก เป็นต้น
ทั้งนี้
เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อขายอัญมณีและเครื่องประดับ
จีไอทีขอแนะนำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าจากร้านที่ได้รับตรารับรอง BWC หรือซื้อด้วยความมั่นใจ
โดยปัจจุบันมีร้านค้าที่ได้รับการรับรองแล้วกว่า 100 รายทั่วประเทศ
ซึ่งสินค้าที่ซื้อหาจากร้านเหล่านี้ ไม่เพียงแต่ได้ของดี มีคุณภาพ
แต่ยังมีใบรับรองคุณภาพเป็นเครื่องรับประกันอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย
![](https://imgs.mcot.net/images//2018/06/1529123193732.jpg)