รัฐสภา 15 ธ.ค.- กรธ.เปิดร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกกต. เพิ่มอำนาจ ให้ทำงานเชิงรุก จับทุจริตเลือกตั้งได้มากขึ้น พร้อมเพิ่มบทบัญญัติคุ้มครองพยาน ให้รางวัลนำจับ
นายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงเปิดร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกรรมการการเลือกตั้ง ว่า กฎหมายเดิมให้อำนาจหน้าที่กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ไว้ระดับหนึ่ง แต่กกต.ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง ไม่สามารถจับกุมคนที่ทำผิดกฎหมาย แต่ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้จะให้กกต.ทำงานในเชิงรุกมากขึ้น
“มาตรา 38 ให้กกต.รีบดำเนินการสืบสวนโดยพลัน และกกต.เพียงคนเดียวสามารถออกไปตรวจและสามารถดำเนินการได้ทันที หากไม่ดำเนินการ ถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนมาตรา 24 กกต.จังหวัดมีหน้าที่เสมือนพนักงานสอบสวน สามารถสั่งระงับการลงคะแนนได้ ทั้งนี้ ยืนยันว่าพร้อมปรับแก้หลังรับฟังความเห็นในวันพรุ่งนี้(16 ธ.ค.) นอกจากนี้ยังสามารถให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ป.ป.ง.) ตรวจเส้นทางเงินกรณีที่สงสัยว่านำเงินซื้อเสียง รวมทั้งสามารถให้หน่วยข่าวกรอง หน่วยความมั่นคงให้ข้อมูลความเคลื่อนไหวการซื้อเสียงได้ ทำให้สามารถดำเนินคดีต่อไปได้ และข้อมูลเหล่านี้ต้องเก็บเป็นความลับ” นายประพันธ์ กล่าว
นายประพันธ์ กล่าวว่า มาตรา 39 ให้กกต.สามารถตั้งพนักงานของกกต.เป็นเจ้าพนักงานสามารถสืบสวน ไต่สวน มีอำนาจเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองชั้นผู้ใหญ่ สามารถออกหมายเรียก ยึด อายัด ตามพนักงานสอบสวนคดีอาญา ทำให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับกรณีที่พยานถูกปองร้ายนั้น ในมาตรา 42 จะมีกฎหมายให้การคุ้มครองพยานด้วย ซึ่งเดิมไม่มี กกต.เคยขอให้กระทรวงยุติธรรมและกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ขอให้คุ้มครองพยาน แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะในอดีตคุ้มครองในทางคดีอาญา ขณะที่มาตรา 43 ไม่ดำเนินคดีกับพยานที่ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินคดี เพราะเดิมคนที่รับเงินมีโทษ จึงไม่กล้าเป็นพยาน พร้อมกันนี้ยังจะมีรางวัลนำจับคนที่ชี้เบาะแสด้วย
นายปกรณ์ นิลประพันธ์ กรธ. กล่าวว่า ประสบการณ์ที่ได้จากกกต.ปี 40-50 คือการดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้งนั้น คนที่มีส่วนสำคัญคือประชาชนผู้ใช้สิทธิ พรรคการเมือง คนเลือกตั้ง และกกต.คือคนที่จัดให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งร่างกฎหมายนี้ ได้กำหนดให้มีกกต.จำนวน 7คน ต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ กล้าตัดสินใจ และต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามหรือเคยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรนูญหรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระใด มีวาระดำรงตำแหน่ง 7 ปีนับตั้งแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งเพียงวาระเดียว
“กกต.ชุดปัจจุบันยังทำหน้าที่ต่อไป เฉพาะบุคคลที่ไม่ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญใหม่ โดยให้คณะกรรมการสรรหาเป็นผู้ชี้ขาด ซึ่งมาจากประธานศาลฎีกา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้าน ประธานศาลปกครองสูงสุด และบุคคลซึ่งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่ไม่ใช่ กกต. ทั้งนี้ กรธ.ได้ยุบ กกต.จังหวัด เปลี่ยนเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งจังหวัดละ 5-8 คนโดยเป็นคนในพื้นที่2 คน ที่เหลือ อีก 3-5คนต้องจับสลากจากคนนอกพื้นที่ โดยผู้ตรวจการเลือกตั้งแต่ละชุดจะตั้งขึ้นเฉพาะช่วงที่มีการเลือกตั้งในแต่ละครั้งเท่านั้น เพื่อตรวจสอบการกระทำผิดเลือกตั้ง และการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ดำเนินการเลือกตั้ง และรายงานให้กกต.กลางรับทราบเพื่อวินิจฉัยต่อไป.-สำนักข่าวไทย