กรุงเทพฯ 4 มิ.ย. – กรมปศุสัตว์คุมเข้มเฝ้าระวังไข้หวัดนก หลังพบการระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ H5N1 ในกัมพูชา จึงห้ามนำเข้าซากสัตว์ทุกชนิดตลอดแนวชายแดนและตรวจสอบจุดเสี่ยงทั่วประเทศ
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์และโฆษกกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า จากรายงานขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ปี 2561 ยังคงพบการระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศแถบอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ กัมพูชาและเวียดนาม ล่าสุดพบการระบาดของโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 จังหวัดเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์จึงต้องดำเนินมาตรการเข้มงวดป้องกันโรคดังกล่าวมากขึ้น โดยให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดที่มีชายแดนติดต่อกับกัมพูชาสุ่มเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจโรคในสัตว์ปีกที่เลี้ยงบริเวณบ้านทุกหมู่บ้านของตำบลที่ติดชายแดน รัศมี 10 กิโลเมตร ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ พร้อมตั้งจุดพ่นยาฆ่าเชื้อในบริเวณจุดผ่านแดน และระงับการนำเข้าสัตว์ปีก รวมถึงไข่ที่ใช้สำหรับทำพันธุ์และซากสัตว์ปีกจากกัมพูชา การเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกและซากสัตว์ปีกต้องมีผลการตรวจรับรองโรคระบาดและใบอนุญาตการเคลื่อนย้ายทุกครั้ง ตามที่กรมปศุสัตว์กำหนดและสามารถทำลายสัตว์ปีกทันที เมื่อพบสัตว์ปีกป่วย ตายผิดปกติสงสัยโรคไข้หวัดนก โดยไม่ต้องรอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ
สำหรับการป้องกันโรคจากนกธรรมชาติที่อาจเป็นพาหะให้เพิ่มการทำความสะอาดและพ่นยาฆ่าเชื้อในพื้นที่ที่มีนกอพยพจำนวนมาก รวมถึงเสี่ยงเคยมีการระบาด จากปกติทำปีละ 4 รอบ ในเดือนตุลาคม มกราคม เมษายน และกรกฎาคม โดยปีงบประมาณ 2561 ดำเนินการไปแล้ว 965,430 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 62.49 จากเป้าหมาย
นอกจากนี้ ยังกำชับให้เฝ้าระวังการระบาดของโรคที่อาจเกิดจากสัตว์ปีกที่ไม่ได้เลี้ยงในระบบฟาร์มมาตรฐาน ได้แก่ การเฝ้าระวังโรคระบาดในไก่ชน กำหนดให้มีการปรับปรุงสถานที่เลี้ยงและขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ ปัจจุบันขึ้นทะเบียนไปแล้ว 24,421 ราย เช่นเดียวกันกับสนามชนไก่ ทางกรมปศุสัตว์ได้มีการประสานความร่วมมือกับกรมการปกครองในการเฝ้าระวังและควบคุมโรคระบาดในไก่ชน การเฝ้าระวังโรคระบาดในเป็ดไล่ทุ่ง กำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนฝูงเป็ดไล่ทุ่งทุกฝูง ร่วมกับการทดสอบโรค และกำหนดให้มีการเคลื่อนย้ายได้เฉพาะภายในจังหวัด ปัจจุบันมีเป็ดไล่ทุ่งทั้งสิ้น 1,455 ฝูง
สำหรับในฟาร์มต่าง ๆ ได้เข้าไปแนะนำให้เกษตรกรดูแลสุขภาพสัตว์อย่างใกล้ชิด ที่ผ่านมาได้ผลักดันฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) พร้อมให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่เกษตรกร ทั้งด้านการเลี้ยง การจัดการ และการป้องกันโรค พร้อมจัดให้มีอาสาปศุสัตว์ในทุกพื้นที่ ปัจจุบันมีการผลักดันฟาร์มที่มีระบบ GFM 4,825 ราย อีกทั้งระยะนี้เป็นช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงฝนตกชุกขึ้น สัตว์ปีกเกิดอาการเครียดและติดเชื้อได้ง่าย กรมปศุสัตว์ขอความร่วมมือเกษตรกรเตรียมความพร้อมและหาทางป้องกันดังกล่าวข้างต้น หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ ห้ามทิ้งซากสัตว์ปีกลงแหล่งน้ำหรือนำไปประกอบอาหารโดยเด็ดขาด และให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ให้เข้าควบคุมป้องกันโรคได้อย่างทันท่วงที .-สำนักข่าวไทย