กรุงเทพฯ 18 พ.ค. – องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) และหน่วยงานของไทย คือ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และกรมชลประทานได้ร่วมเสนอร่างรายงานการพิจารณาขั้นต้นโครงการพัฒนาคลองผันน้ำควบคู่ถนนวงแหวนรอบที่ 3 (Pre-Feasibility Study of the 3rd Outer Ring Diversion Channel) เพื่อช่วยบรรเทาอุทกภัยในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการป้องกันพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรมโดยรอบ ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ
ศาสตราจารย์คิมิโอะ ทาเคยะ ที่ปรึกษาอาวุโสของ JICA ซึ่งเคยร่วมงานกับรัฐบาลไทยในการศึกษามาตรการป้องกันอุทกภัยหลังจากเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในปีพ.ศ. 2554 เผยว่า แม่น้ำเจ้าพระยา มีลักษณะพิเศษหลายประการ คือ มีคลองชลประทานตัดกับแม่น้ำในแนวราบหลายแห่ง ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยเพราะการระบายน้ำจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำเป็นไปได้น้อย ขณะเดียวกัน พื้นที่โดยรอบแม่น้ำเจ้าพระยาบางแห่ง ถูกจัดสรรเป็นนิคมอุตสาหกรรมยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้พื้นที่เหล่านี้ได้รับความเสียหายเมื่อเกิดภัยน้ำท่วมได้ JICA จึงหาทางศึกษาเพื่อช่วยไทยป้องกันและบรรเทาอุทกภัยอย่างได้ผลและคุ้มค่าการลงทุน
ที่ผ่านมา JICA ได้นำเสนอแนวทางความร่วมมือหลายประการต่อหน่วยงานด้านการจัดการน้ำของไทย เช่น ขยายพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ความร่วมมือเพื่อลดความเสี่ยง หรือ ความเสียหายที่เกิดจากอุทกภัย ใช้มาตรการถาวร เช่น คันดินล้อมรอบนิคมอุตสาหกรรมเพื่อป้องกันน้ำ แต่วิธีนี้ต้องใช้เวลาดำเนินการอย่างมาก สร้างเส้นทางอยุธยาบายพาส ปรับปรุงคันดิน หรือ คันกั้นน้ำ ที่อยู่ในระดับต่ำ ให้สูงขึ้น นอกจากนี้ JICA ยังให้ความช่วยเหลือด้านการแบ่งปันประสบการณ์และวิธีการรับมือกับภัยน้ำท่วม แก่รัฐบาลไทยด้วย
การศึกษาเพื่อหาทางป้องกันน้ำท่วมในประเทศไทยครั้งนี้ เป็นการศึกษาต่อเนื่องเพื่อพิจารณามาตรการป้องกันอุทกภัยภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและนำเสนอต่อรัฐบาลไทย เมื่อ พ.ศ. 2556 โดยประกอบด้วยคลองผันน้ำเลียบถนนวงแหวน (Outer ringroad diversion channel) และ บางบาล บางไทร Ayuttaya Bypass
ด้าน ดร. สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวยกย่อง JICA ท่ีให้ความช่วยเหลือรัฐบาลไทยด้านการจัดการน้ำมาตลอด พร้อมทั้งกล่าวว่า ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะทำให้ไทยได้ทราบถึงวิธีดำเนินการ สร้างถนนคู่ขนานไปกับทางระบาย เพื่อการใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ซึ่งนับเป็นแนวทางที่ดี ที่รัฐบาลจะพิจารณานำไปศึกษาต่อเพื่อจัดลำดับความสำคัญของแต่ละแผนงาน รวมทั้งจะบรรจุผลการศึกษาของ JICA ที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ไว้ในแผนยุทธศาสตร์น้ำแห่งชาติต่อไป
ทั้งนี้ อุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2554 ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อประเทศไทย โดยคิดเป็นมูลค่าความเสียหายต่อภาคอุตสาหกรรมมากถึงร้อยละ 70 นอกนั้นเป็นผลเสียต่อภาคการเงิน การท่องเที่ยว ภาคครัวเรือน และการเกษตร.- สำนักข่าวไทย