กรุงเทพฯ 16 พ.ค.-ผลกระทบจากการบุกตรวจตลาดใหม่ดอนเมือง นอกจากอาคารบางส่วนต้องถูกรื้อเพราะสร้างผิดกฎหมายแล้ว ผู้ค้าหลายร้อยรายต่างเดือดร้อนหนัก เพราะตึกที่จ่ายเงินจองไปรายละไม่ต่ำกว่า 500,000 บาท รวมกว่า 200 ล้านบาท ก็ไม่รู้ว่าจะเข้าไปขายของได้หรือไม่
อาคารพลาซ่าริมน้ำ ตลาดใหม่ดอนเมือง คือจุดแรกที่เจ้าหน้าที่รื้อถอน หลังพบก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะคลองเปรมประชากร ทำให้ผู้ค้ากว่า 50 รายต้องย้ายออก หาเช่าที่ใหม่ สูญเงินมัดจำรวมกว่า 2 ล้าน แต่นั่นไม่ได้สร้างความกังวลใจมากนัก หากเทียบกับปัญหาที่ ผู้ค้ากว่า 400 รายไม่รู้ชะตากรรมว่า จะได้ขึ้นไปขายของบนอาคารพลาซ่าแห่งใหม่ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างเมื่อใด ทั้งที่จ่ายเงินจองล็อก ค่าเช่าล่วงหน้าไปแล้วไม่ต่ำกว่า 500,000 บาท/ราย รวมกว่า 200 ล้านบาท ซ้ำร้ายต้องย้ายออกจากตลาดแอร์พอตวันที่ 1 มิถุนายนนี้
บริษัทพัฒนาตลาดใหม่ดอนเมือง ดำเนินการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ มีนายสุชาติ โชว์วัฒนา หรือเสี่ยเซ้ง เป็นกรรมการผู้จัดการ ทำสัญญาเช่าที่ 21 ไร่กับกรมธนารักษ์ พัฒนาเป็นพื้นที่พานิชย์ ประกอบด้วย อาคารพานิชย์ 182 คูหา ตลาดแอร์พอต มีผู้ค้าชั่วคราว 200 ห้อง อาคารพลาซ่า 3 อาคาร เอ บี และซี มีเพียงอาคารเอ ที่สร้างเสร็จและอยู่ระหว่างขอใช้อาคาร อาคารบีคืบหน้าแล้วกว่าร้อยละ 50 ขณะที่ซียังไม่ก่อสร้าง หากไม่เสร็จภายในสิ้นปีนี้ กรมธนารักษ์ จะ ยกเลิกสัญญาและหาผู้พัฒนารายใหม่ ยันไม่กระทบกับผู้ค้าแน่นอน
กรมธนารักษ์ได้รับค่าเช่าที่จากตลาด 1 แสนบาท/เดือน แต่เมื่อเปิดรายได้ของบริษัทฯ ที่ได้จากค่าเช่าและอื่นๆ พบว่าอาคารพานิชย์มีค่าเช่าเฉลี่ยคูหาละ 20,000 รวม 3.64 ล้านบาท/เดือน ตลาดแอร์พอตค่าเช่าเฉลี่ยห้องละ 20,000 รวม 4 ล้านบาท/เดือน และรายรับอื่น ๆ ที่ผู้ค้าจ่ายเฉลี่ยเดือนละ 3,000 บาท รวม 1.146 ล้านบาท/เดือน คาดว่าบริษัทฯมีรายได้ต่อเดือนสูงถึง 8.786 ล้านบาท ถึงจะมีรายได้มหาศาล แต่ตลอดสัญญา 30 ปี กรมธนารักษ์จะมีรายได้เข้ารัฐ 60 ล้าน ซึ่งถือว่าเป็นไปตามข้อตกลง
ในฐานะคู่สัญญาอาจไม่กระทบ แต่การเสียภาษี เป็นหน้าที่ของกรมสรรพากร ต้องตรวจสอบเข้ม ว่ามีความเชื่อมโยงกับกระบวนการฟอกเงินหรือไม่ ขณะที่กรมธนารักษ์ ต้องตรวจสอบการใช้อาคาร หากพบอาคารต่อเติมจนแก้ไขไม่ได้ หรือใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย จะถูกยกเลิกสัญญาทันที.-สำนักข่าวไทย