กรุงเทพฯ 4 พ.ค. – วันนี้เป็นวันแรกที่กรมบัญชีกลางเริ่มให้ผู้มีสิทธิ์และบุคคลในครอบครัวใช้บัตรประชาชนยื่นใช้สิทธิ์เบิกจ่ายตรงค่ารักษาประเภทผู้ป่วยนอกได้ที่สถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการกว่า 1,317 แห่งทั่วประเทศ
นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางได้พัฒนาระบบเบิกจ่ายตรงค่ารักษาให้ผู้มีสิทธิ์และบุคคลในครอบครัวสามารถนำบัตรประจำตัวประชาชนมายื่นใช้สิทธิ์เบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอก ณ สถานพยาบาลของทางราชการและสถานพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการตามหลักเกณฑ์กลุ่มโรคเฉพาะ ได้แก่ การฟอกไต และรังสีรักษาสำหรับโรคมะเร็ง รวมทั้งสิ้นกว่า 1,317 แห่ง แทนการลงทะเบียนสมัครเข้าจ่ายตรง (สแกนนิ้ว) กับสถานพยาบาลของทางราชการแต่ละแห่ง ซึ่งกรมบัญชีกลางเตรียมความพร้อม และเริ่มทดสอบระบบตั้งแต่วันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อให้สถานพยาบาลเตรียมความพร้อมก่อนเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบวันที่ 4 พฤษภาคม 2561
สำหรับผู้มีสิทธิ์ที่ยังไม่มีหรือไม่สามารถมีบัตรประจำตัวประชาชนได้ตามกฎหมาย ก็สามารถใช้สิทธิ์เบิกจ่ายตรงได้ โดยdรณีเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 7 ปี ให้ใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชนของเด็กที่ปรากฏอยู่ในสูติบัตรหรือทะเบียนบ้าน (ของเด็ก) ยื่นร่วมกับบัตรประชาชนของผู้ดูแลที่พาเด็กไปโรงพยาบาล กรณีคู่สมรสหรือบิดามารดาของผู้มีสิทธิ์ที่ไม่มีสัญชาติไทย แต่มีเลขประจำตัวคนต่างด้าว 13 หลัก ให้ใช้บัตรประจำตัวคนต่างด้าว หรือทะเบียนบ้านได้ แต่ถ้าไม่มีเลขประจำตัวคนต่างด้าว 13 หลัก ให้ใช้รายงานทะเบียนประวัติที่มีเลข 12 หลัก และขึ้นต้นด้วยตัว B โดยขอรับเอกสารได้จากนายทะเบียนต้นสังกัดของผู้มีสิทธิ์ กรณีผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวเป็นผู้ป่วยติดเตียงและไม่สามารถมาแสดงตนได้ ให้ผู้ดูแลนำบัตรของผู้มีสิทธิ์พร้อมแสดงบัตรประชาชนของผู้ดูแลเพื่อใช้สิทธิ์ กรณีผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวที่เป็นผู้สูงอายุหรือมีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวที่เข้ารับการรักษาเสร็จแล้ว แต่ไม่สะดวกทำธุรกรรมด้วยตนเอง สามารถให้ผู้ดูแลนำบัตรประชาชนของผู้มีสิทธิ์พร้อมแสดงบัตรประชาชนของผู้ดูแลเพื่อใช้สิทธิ์ ทั้งนี้ หากบุคคลในครอบครัวของผู้มีสิทธิ์ไม่สะดวกพกเอกสารดังกล่าว ผู้มีสิทธิ์สามารถยื่นคำร้องขอทำบัตรสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กับนายทะเบียนที่หน่วยงานของตนได้
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวต่อว่า การใช้สิทธิ์เบิกจ่ายตรง ผู้มีสิทธิ์ต้องตรวจสอบสิทธิ์ก่อนไปใช้บริการ หากพบว่า “ไม่มีสิทธิ” ให้รีบติดต่อนายทะเบียนที่สังกัด เพื่อปรับปรุงฐานข้อมูลให้ถูกต้อง โดยตรวจสอบสิทธิ์ได้ที่เว็บไซต์กรมบัญชีกลาง www.cgd.go.th และขณะนี้ทางกรมฯ ได้พัฒนา Mobile Application สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการเพื่อให้ผู้มีสิทธิ์ดาวน์โหลดไปใช้ในการตรวจสอบสิทธิ์ของตนเองก่อนเข้ารับการรักษา.-สำนักข่าวไทย