สงขลา 1 ต.ค. – “ผึ้งหลวง” เป็นผึ้งที่มีขนาดใหญ่ มีพิษร้ายแรงชนิดหนึ่งในบรรดาผึ้งชนิดต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาทั้งในและต่างประเทศไม่เคยพบว่ามีการเลี้ยงผึ้งชนิดนี้สำเร็จ ยกเว้นที่ จ.สงขลา ซึ่งมีการสืบทอดภูมิปัญญาในการล่อผึ้งให้เข้ามาทำรังและเลี้ยงกันมานานแล้ว ที่สำคัญตอนนี้ต่างชาติกำลังให้ความสนใจอย่างมาก
“ผึ้งหลวง” จัดเป็นผึ้งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดชนิดหนึ่ง ดุร้ายและมีพิษมาก มักจะทำรังบนต้นไม้ใหญ่หรือที่สูง แต่ผึ้งหลวงที่เห็นอยู่นี้ เป็นผึ้งที่ชาวบ้านกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์ผึ้งหลวงควนโส อ.ควนเนียง จ.สงขลา ใช้ภูมิปัญญาสร้างกระโจม หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “บังกาด” เพื่อให้ผึ้งเข้าไปทำรัง ในช่วงที่ดอกเสม็ดขาวของป่าสงวนแห่งชาติบางนกออก เนื้อที่กว่า 6,000 ไร่ของชุมชนแห่งนี้ กำลังเบ่งบาน
บังกาด ใช้ไม้เป็นเสา 2 ท่อน ความสูงประมาณ 1.50 เมตร และ 1 เมตร ห่างกันประมาณ 250 เซนติเมตร วางขอนไม้เส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 5 นิ้วขึ้นไป ใช้ไม้ที่ผึ้งนิยมทำรัง อาทิ ไม้กระท้อน ไม้กระถิน ทำมุมกับพื้นราว 45 องศา ในแนวเฉียงกับทิศเหนือและทิศใต้เล็กน้อย ปิดทับด้วยกิ่งเสม็ด เพื่อบังแสงแดดให้กับผึ้ง เลียนแบบธรรมชาติ
หลังจากผึ้งทำรังครบ 21 วัน ชาวบ้านจะเริ่มเก็บน้ำผึ้งครั้งแรก โดยการใช้กิ่งเสม็ดแห้ง ห่อหุ้มด้วยกิ่งเสม็ดสด ทำเป็นคบควัน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “หัวหมี” นำไปรมที่รังผึ้ง ก่อนจะตัดเอาน้ำผึ้งจากรัง โดยต้องเหลือน้ำผึ้งไว้บางส่วน เพื่อให้เป็นอาหารเลี้ยงตัวอ่อน ซึ่งจะทำให้ผึ้งสามารถขยายพันธุ์ได้ ไม่กระทบต่อจำนวนประชากรผึ้ง ซึ่งถือเป็นแมลงเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน
ปัจจุบันในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติบางนกออก เริ่มพบปัญหาการบุกรุก และมักเกิดไฟไหม้ป่าบ่อยครั้ง ทำให้แหล่งอาหารของผึ้งหลวงหลายร้อยไร่ถูกทำลาย เกิดเป็นความกังวลใจของกลุ่มอนุรักษ์ผึ้งหลวง ซึ่งหากยังไม่มีการดูแลป้องกันที่ดีกว่านี้ อาจส่งผลกระทบต่อการอพยพของผึ้งและภูมิปัญญาการเลี้ยงผึ้งหลวง ซึ่งพบเพียงแห่งเดียวในโลกขณะนี้ได้ในอนาคต. – สำนักข่าวไทย