รัฐสภา 4 เม.ย.- สนช.รับหลักการร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ไว้พิจารณา โดยเป็นการกำหนดความคุ้มครองข้าราชการตุลาการศาลในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีซึ่งได้กระทำโดยสุจริต เพื่อให้การทำงานข้าราชการตุลาการมีอิสระ ปราศจากการแทรกแซง อำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนได้อย่างรวดเร็ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ..ที่คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ โดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ปี 2543 เพื่อกำหนดความคุ้มครองข้าราชการตุลาการในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี เนื่องจากนับตั้งแต่มีการเปิดศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ มีผู้นำคดีไปฟ้องร้องกล่าวหาผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่พิพากษาเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่ามีการใช้ช่องทางเดิมที่มีอยู่ฟ้องร้องได้
และแก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำที่อ้างถึงกรรมการการเลือกตั้ง กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็น “ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นคำที่ใช้ในรัฐธรรมนูญ รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมการได้มาซึ่งกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้ข้าราชการตุลาการเป็นผู้เลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการตุลาการไม่เกินสองคน รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมกระบวนการเลือกกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมฯ ให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้องค์กรซึ่งทำหน้าที่บริหารงานบุคคลเกี่ยวกับผู้พิพากษาศาลยุติธรรมมีความเป็นอิสระ เป็นกลาง ปลอดจากการถูกแทรกแซงทางการเมือง
ด้านสมาชิก สนช. ได้ให้ข้อสังเกตกรณีการเพิ่มความ “การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีซึ่งข้าราชการตุลาการได้กระทำโดยสุจริต ย่อมได้รับความคุ้มครอง” เนื่องจากเกรงว่าข้อความดังกล่าวจะมีการแปลความไปอีกลักษณะหนึ่งได้ เพราะหลักความเชื่อของคนไทยเชื่อในกระบวนการยุติธรรมของทุกศาลว่าสุจริตและยุติกรรม ดังนั้นหากระบุให้มีการคุ้มครองผู้สุจริตจะทำให้มองไปอีกทางหนึ่งได้ ทั้งนี้หลังการอภิปรายของสมาชิก ที่ประชุมมีมติเห็นชอบรับหลักการวาระแรกไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเอกฉันท์ 181 เสียง และงดออกเสียง 6 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาพิจารณาจำนวน 24 คน กำหนดแปรญัตติ 7 วัน กรอบระยะเวลาดำเนินการ 60 วัน.-สำนักข่าวไทย