กรุงเทพฯ 19 มี.ค. – กระทรวงคมนาคมระบุไทยจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศอย่างก้าวกระโดดด้วยแนวคิดการขนส่งไร้รอยต่อ
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวในงานสัมมนา Thailand Taking off to New Heights ถึงการขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ของประเทศ ว่า ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศ นับจากนี้ไป จะเป็นไปอย่างก้าวกระโดดครั้งใหญ่ โดยลงทุนพัฒนาทั้งการขนส่ง ทางน้ำ เรือ ทางอากาศ ทางรถ ทางราง ภายใต้ใต้แนวคิด One Seamless Transport หรือการขนส่งไร้รอยต่อ และเป็นระบบคมนาคมแบบเวอร์คลาสหรือการขนส่งไร้รอยต่อ และเป็นระบบคมนาคมแบบเวอร์คลาส โดยมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่ง ปี้นี้มีแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทุกหมวดรวม 44 โครงการ มูลค่ากว่า 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่น ความคืบหน้าของโครงการรถไฟไทย-จีน ในช่วงที่ 1 ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร (ปางอโศก-กลางดง) อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ญี่ปุ่นศึกษาความเหมาะสมเสร็จและส่งผลการศึกษาขั้นสุดท้ายให้ไทย คาดว่าจะสามารถนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็ว ๆ นี้
ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ ระยะแรกเชื่อมการเดินทางไปท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไปสู่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา โดยให้รถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ส่วนระยะ 2 จะเชื่อมต่อไปถึงจังหวัดระยอง เพื่อเข้าสู่พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ขณะที่รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หัวหิน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กำลังออกแบบรายละเอียดความเหมาะสมของโครงการ ซึ่งจะมีการจัดตั้งองค์กรขึ้นมาใหม่ เพื่อรองรับเทคโนโลยีความเร็วสูง
สำหรับระบบรถไฟพื้นฐานขนาด 1 เมตร (Standard Gate) รางเดี่ยวปัจจุบันมีความยาวทั่วประเทศ 3,700 กิโลเมตร และสามารถเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาร์ มาเลเซีย สปป.ลาวและกัมพูชา เป็นต้น เมื่อเปลี่ยนเป็นระบบทางคู่ก็จะเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งถึง 4 เท่า รถไฟทางคู่เฟสแรกมีการลงนามในสัญญาเมื่อปลายปี 2560 รวม 9 สัญญา ภายในกลางปี 2561 จะมีการประมูลในส่วนที่เหลือ คาดว่าถ้าประมูลครบในส่วนของทางคู่จะมีความยาวทั่วประเทศ 3,400 กิโลเมตร ส่วนรถไฟเส้นใหม่อีก 2 เส้นทาง ได้แก่ สายเด่นชัย-เชียงราย และสายบ้านไผ่-นครพนม หากมีการดำเนินการทั้งการประมูลและคัดเลือกผู้รับเหมาครบภายในกลางปีนี้จะเห็นภาพรวมความพร้อมของระบบรางชัดเจนขึ้น หลังจากนั้นจะมีการประกาศให้ท้องถิ่นหรือเอกชนที่มีความสนใจลงทุนดำเนินการระบบขนส่งในพื้นที่ และจะเสนอแผนการลงทุนให้รัฐบาลพิจารณาภายในปลายปีนี้ จะมีการออก พ.ร.บ.กรมการขนส่งทางราง เพื่อรองรับการกำกับดูแลนโยบายระบบราง และเมื่อมีการเซ็นสัญญาทางคู่เสร็จจะมีการศึกษาเปลี่ยนระบบรางธรรมดาไปสู่ระบบรางไฟฟ้าทั้งระบบเทียบเท่าอารยประเทศ
ส่วนการพัฒนาการเดินทางถนน จะต้องเป็นระบบปิด ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดอุบัติเหตุได้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนามอเตอร์ 3 เส้นทาง ได้แก่ 1.มอเตอร์เวย์พัทยา – มาบตาพุด โดยขณะนี้การก่อสร้างคืบหน้าร้อยละ 68 คาดว่าจะเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 เพื่อเชื่อมโยงอุตสาหกรรมระหว่างแหลมฉบัง-มาบตาพุด และรองรับสนามบินอู่ตะเภา 2.มอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา ล่าสุดคืบหน้าร้อยละ 29 คาดว่าจะเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2563 และ 3.มอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี คืบหน้าร้อยละ 7 คาดว่าจะเสร็จตุลาคม 2563 ขณะที่ทางเรือ มีการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือมาบตาพุด โดยเพิ่มศักยภาพจากที่ปัจจุบันสามารถรองรับตู้สินค้าได้ 7 ล้านตู้ต่อปี เพิ่มเป็น 15 ล้านตู้ต่อปี และพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานอู่ตะเภา ให้รองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีเที่ยวบินมากถึงปีละ 1 ล้านเที่่ยวบิน และในอนาคตจะเพิ่มเป็น 3 ล้านเที่ยวบิน ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างการศึกษาการก่อสร้างสนามบินแห่งที่ 2 ในเชียงใหม่และภูเก็ต ประเทศไทยจึงเป็นศูนย์กลางของการบินในภูมิภาค.-สำนักข่าวไทย