รัฐสภา 14 มี.ค.-“สุรชัย” คาดวันพรุ่งนี้จะชัดเจนส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ส.ส. และ ส.ว.หรือไม่ เชื่อหากส่งศาลวินิจฉัย จะไม่ตีตกทั้งฉบับ หวั่นกระทบโรดแม็ป ด้านกรธ.ส่งข้อกังวล 4 ประเด็นที่อาจขัดรัฐธรรมนูญให้ประธานสนช.แล้ว
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ส่งหนังสือแสดงความห่วงใยร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ส่อขัดรัฐธรรมนูญ ว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน อยู่ระหว่างให้สมาชิก สนช. พิจารณาข้อทักท้วงดังกล่าวอยู่ ซึ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของสมาชิก สนช. คาดว่าวันพรุ่งนี้ (15 มี.ค.) จะมีความชัดเจนว่าจะส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ ตนไม่ขอออกความเห็นเรื่องดังกล่าว เพราะเกรงว่าจะเป็นการชี้นำ แต่ต้องยอมรับว่าหากส่งร่างพรป. ส.ส. ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จะกระทบ โรดแม็ปการเลือกตั้ง ส่วนร่าง ส.ว. เชื่อว่าไม่กระทบ เนื่องจากมีระยะเวลาที่ต้องรอกฎหมาย ส.ส. บังคับใช้ 90 วัน
รองประธาน สนช. กล่าวว่า หากมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างพรป.ทั้งสองฉบับ ศาลจะไม่วินิจฉัยตีตกทั้งฉบับ เพราะประเด็นที่นายมีชัยห่วงใยเป็นประเด็นปลีกย่อยที่กระทบบุคคลบางคน เช่นเดียวกับร่าง ส.ว. ที่มีปัญหาเฉพาะบทเฉพาะกาลเท่านั้น จึงไม่ควรกังวล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ทำความเห็นและข้อกังวลในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับที่อาจเข้าข่ายขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญใน 4 ประเด็น และส่งให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อสื่อสารไปยังสนช.แล้ว โดยในส่วนของร่างพรป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มีประเด็นเรื่องผู้ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งส.ส. ห้ามดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองและท้องถิ่น ซึ่งอาจขัดรัฐธรรมเพราะถือว่าเป็นการจำกัดสิทธิ์ประชาชน และประเด็นที่ให้เจ้าหน้าลง คะแนนแทนผู้พิการได้ ซึ่งจะทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นความลับ
ส่วนร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ในบทเฉพาะกาล มี 2 ประเด็นที่เสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญ คือ การแยกประเภทผู้สมัคร ส.ว.ออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ประเภทอิสระ และ ประเภทผู้แทนองค์กร เพราะจะทำให้การคัดเลือก ส.ว.ต้องผ่านองค์กรก่อน ซึ่งไม่เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดที่ให้เลือกกันเองพร้อมกัน และการให้เลือกกันเองภายในกลุ่มแทนการเลือกไขว้ จะง่ายต่อการฮั้วกันมากกว่า.-สำนักข่าวไทย