สำนักงาน กกต. 6 ก.พ.- กกต.มีมติแย้งร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. 5 ประเด็น ร่างกฎหมายการได้มาซึ่ง ส.ว. 1 ประเด็น ส่ง สนช.ศุกร์นี้ ตั้งกมธ.ร่วมสามฝ่าย
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงผลการประชุมกกต.ว่า ที่ประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ที่ผ่านความเห็นชอบจาก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว และมีมติ ทำความเห็นแย้งร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ ในส่วนของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.จะทำความเห็นแย้ง 5 ประเด็น ส่วนร่างพ.ร.ป.การได้มาซึ่งสว. 1 ประเด็น
นายสมชัย กล่าวว่า ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ประกอบด้วย 1 เรื่องที่ให้ผู้สมัครพรรคการเมืองมีหมายเลขแตกต่างกันไปตามเขตเลือกตั้ง ซึ่ง กกต.เห็นว่าขัดกับมาตรา 224 (2) ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้ กกต.มีบทบาทในการควบคุมการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม เพราะการมีหมายเลขแตกต่างกันในแต่ละเขต ของแต่ละพรรคจะทำให้กระบวนการจัดเตรียมพิมพ์บัตรต้องกระจายออกไปในพื้นที่ต่าง ๆ มากขึ้น จะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดบัตรปลอมมากขึ้น แทนที่จะพิมพ์ในส่วนกลางที่สามารถควบคุมบัตรเลือกตั้งให้ปลอดภัย ไม่สามารถปลอมแปลงบัตรได้ ทำให้ยากจะจัดการเลือกตั้งให้เกิดการสุจริต เที่ยงธรรมได้
2 ประเด็นมหรสพที่กำหนดให้การหาเสียงของผู้สมัครสามารถจัดมหรสพได้ จะนำไปสู่การเลือกตั้งที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม เพราะการคำนวณค่าใช้จ่ายในเรื่องนี้จะทำให้เกิดความได้เปรียบ เสียเปรียบระหว่างพรรคใหญ่และพรรคเล็ก ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 224 (2)
3 มาตรา 62 วรรค 2 กรณีที่กำหนดค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองเท่ากัน ตามหลักเกณฑ์ที่กรรมการการเลือกตั้งกำหนด นำไปสู่หลักปฏิบัติว่าค่าใช้จ่าย ส.ส.เขตก้อนหนึ่ง ซึ่งในอดีตกำหนดค่าใช้จ่ายคนละ 1.5 ล้านบาท ส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อเดิมจะคำนวณจากจำนวนที่ส่ง ถ้าส่งน้อยก็จะมีค่าใช้จ่ายน้อยลง แต่ในร่างกฎหมายนี้กำหนดให้ค่าใช้จ่ายเท่ากัน ซึ่งจะเป็นการตกลงร่วมกันระหว่าง กกต.กับพรรคการเมือง สิ่งที่ กกต.กังวลในทางปฏิบัติคือการประชุมร่วมระหว่าง กกต.กับพรรคการเมือง ซึ่งจะมีพรรคเล็กมากกว่าพรรคใหญ่ และพรรคเล็กโหวตชนะพรรคใหญ่ กำหนดให้ค่าใช้จ่ายกลางไม่เกินล้านบาท แต่พรรคเล็กส่งผู้สมัคร ส.ส.เขตเพียงคนเดียวก็สามารถใช้เงิน 1 ล้านบาทบวก 1.5 ล้านบาททุ่มหาเสียงในเขตนั้น แต่ถ้าเป็นพรรคใหญ่ส่งผู้สมัคร 350 เขต ก็จะมีงบกลางที่ใช้หาเสียงคนละ 2,857 บาท การเขียนกฎหมายแบบให้เท่ากัน แต่ไม่เที่ยงธรรมเมื่อถูกนำไปปฏิบัติ
4 มาตรา 133 เรื่องขอบเขตอำนาจศาลให้ใบเหลืองหลังประกาศผลเลือกตั้งได้ เป็นการเขียนเกินขอบเขตของกฎหมาย เพราะในรัฐธรรมนูญกำหนดให้ใบแดงกับใบดำเท่านั้น ขัดกับสาระของรัฐธรรมนูญเท่ากับขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ
5 มาตรา 138 ภายหลังประกาศผลเลือกตั้ง ให้มีการเลือกตั้งใหม่และเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งด้วย หรือที่เรียกว่าใบดำ ซึ่งในรัฐธรรมนูญกำหนดให้ได้ทั้งใบดำและใบแดง แต่ในกฎหมายเขียนให้ใบดำเพียงอย่างเดียว จึงถือว่าขัดรัฐธรรมนูญ
นายสมชัย กล่าวว่า ส่วนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. ในส่วนของประเด็นเรื่องการแยกประเภท แบ่งกลุ่ม การเปลี่ยนจากการเลือกไขว้มาเป็นเลือกแบบกลุ่มนั้น กกต.ไม่เห็นแย้ง แต่เห็นแย้งในเรื่องที่ให้อำนาจศาลให้ใบดำเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นการเขียนให้สอดรับกับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการะลือกตั้ง ส.ส. ทั้งที่ตามรัฐธรรมนูญศาลสามารถให้ได้ทั้งใบดำและใบแดง โดยกกต.จะทำความเห็นแย้งกลับไปที่ สนช.ภายในวันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์นี้
“การทำความเห็นแย้งต้องเป็นเรื่องที่ทำให้กฎหมายดีขึ้น มีความสมบูรณ์ เป็นประโยชน์ต่อการจัดการเลือกตั้งในอนาคต ไม่ได้สนใจว่าจะเข้าทางใคร หรือจะทำให้เกิดการยืดระยะเวลาออกไปมากหรือน้อยเพียงไร แต่เอาสาระของกฎหมายเป็นที่ตั้ง พิจารณาโดยอิสระ ปราศจากการล็อบบี้ ถึงมีล็อบบี้ก็ไม่สามารถโน้มน้าวจูงใจได้” นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย กล่าวด้วยว่า แม้จะมีการทำความเห็นแย้งไปก็จะเสียเวลาไม่มากนัก คือจะเพิ่มขั้นตอนอีก 15-20 วันเท่านั้น จากการตั้งกรรมาธิการสามฝ่ายพิจารณา 15 วัน ก่อนเข้า สนช.รวมระยะเวลาไม่เกิน 20 วัน จึงไม่ส่งผลกระทบในเชิงของระยะเวลาที่จะเสียไป.-สำนักข่าวไทย