กรมศุลกากร 2 มี.ค. – กรมศุลกากรพร้อมออกมาตรการเยียวยาเอกชน หลังกฎหมายฉบับใหม่กระทบผู้ส่งออก เตรียมผ่อนปรนขยายเวลา ยอมรับปรับปรุงอำนวยความสะดวกธุรกิจหลายด้านอันดับของไทยจะดีขึ้นเมื่อเวิลด์แบงก์เข้ามาเก็บข้อมูลเพิ่ม
นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวภายหลังร่วมงานสัมมนา เพื่อประเมินผลกระทบจากพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2560 หลังจากได้บังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ยอมรับว่าผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากการทำพิธีทางศุลกากร และนำสินค้าผ่านแดนออกนอกราชอาณาจักรส่งไม่ทันตามกำหนดภายใน 30 วัน กรมศุลกากรจึงเตรียมออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ สำหรับขั้นตอนการนำสินค้าเกิน 30 วัน เพื่อเก็บเข้าไปพักไว้ในเขตปลอดอากร และคลังสินค้าแทน จากเดิมต้องทำการยึดและขายทอดตลาดทันที โดยผู้ประกอบการต้องนำหลักฐานยืนยันสาเหตุที่ไม่สามารถนำสินค้าส่งออกได้ทันเพื่อมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่
นอกจากนี้ กรมศุลกากรยังได้แก้ปัญหาลดอุปสรรคหลายด้าน เพื่ออำนวยความสะดวกกับภาคธุรกิจ (Doing Business) ทั้งมาตรการ Pre-Arrival Processing ด้วยการให้เอกชนส่งรายการสินค้านำเข้าระหว่างเดินทางทั้งเครื่องบิน ทางเรือ มาให้ศุลกากรทำการตรวจสอบ หากไม่อยู่ในบัญชีรายการสินค้ามีความเสี่ยง ต้องทำการตรวจสอบอย่างเข้มงวด หากไม่ประวัติการสำแดงเท็จจะปล่อยสินค้าผ่านไปได้ หลังจากเริ่มใช้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 เริ่มมีเอกชนใช้บริการผ่านธุรกรรมดังกล่าว 200,000 รายการ นับว่าสะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้า Greenline ซึ่งร่วมโครงการคุณธรรม รวมทั้งใช้ระบบติดตามสินค้า E-Tracking เพื่อติดตามดูว่าสินค้าอยู่ในขั้นตอนใดเหมือนกับไปรษณีย์ เพื่อลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่
ตลอดจนการปรับปรุงรองรับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC ) การนำสินค้าเข้าเขตฟรีโซน จากเดิมต้องยื่นขอเอการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่รับผิดชอบ บางรายการต้องใช้เอกสารขออนุญาติถึง 17 ฉบับ จากนี้ไปหากสินค้าใดประกอบ และผลิต โดยนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เมื่อผลิตแล้วส่งออกไม่ต้องยื่นขอเอกสารดังกล่าว เพื่อความสะดวกกับผู้ส่งออกไปยังประเทศที่ 3 แต่หากนำเข้ามาผลิตแล้วจำหน่ายในประเทศยังต้องยื่นขออนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเหมือนเดิม เพื่อดูแลผู้บริโภคในประเทศของไทย หลังจากนี้กรมศุลกากรจะมีสถิติการให้บริการ ก่อนและหลังการปฏิรูปการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกกับเอกชนชัดเจนมากขึ้นว่าสามารถลดระยะเวลา ประหยัดต้นทุนได้เท่าได้ ยอมรับช่วงที่ผ่านมาเริ่มปรับปรุงจึงไม่มีข้อมูลชัดเจนในการประเมินอันดับอำนวยความสะดวกทางธุรกิจครั้งก่อน จึงหวังว่าการจัดอันดับอำนวยความสะดวกของประเทศจะดีขึ้นในรอบต่อไป
สำหรับผลการจัดเก็บรายได้ทางศุลกากรปีนี้มียอด 105,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยเดือนละ 800-900 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 111,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากการปรับลดอัตราภาษีนำเข้าเหลือร้อยละ 0 ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-จีน ทำให้รายได้ลดลงปีละ 220 ล้านบาท. – สำนักข่าวไทย