บอร์ดอีอีซีไฟเขียวแผนสร้างรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน
ทำเนียบฯ 26 ก.พ.-บอร์ดอีอีซี เห็นชอบแผนสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คาด อู่ตะเภา ศูนย์ซ่อม ท่าเรือ ลงนามได้ภายในส้ินปีนี้ สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 2/2561 เห็นชอบแผนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เริ่มจากสนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา โดยยกระดับสนามบินอู่ตะเภามาเป็นสนามบินนานาชาติแห่งที่ 3 รถไฟความเร็ว 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง เดินทางจากกรุงเทพฯไปสนามบินอู่ตะเภา ใช้เวลาเพียง 45 นาที เทียบกับเดินทางโดยรถยนต์ใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง โดยรถยนต์ ค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงจากมักกะสัน ถึงพัทยา ประมาณ 270 บาท หากต่อถึงสนามบินอู่ตะเภา ค่าโดยสารประมาณ 330 บาท
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจตลอดทั้งโครงการมูลค่า 700,000 ล้านบาท โดยในช่วงระยะเวลา 50 ปีแรก ซึ่งเปิดให้เอกชนบริหารโครงการ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท สูงกว่าเงินลงทุน 200,000 ล้านบาท เมื่อครบ 50 ปี แล้ว ยังมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจนสิ้นอายุของโครงการ 300,000 ล้านบาท จากนั้นโครงการได้ตกเป็นของรัฐบาล เพื่อบริหารดูแลต่อไป จึงไม่ได้เอื้อประโยชน์กับเอกชนมากเกินไป หากกำหนดเวลาเหลือ 30 ปี รัฐบาลอาจต้องจ่ายเงินสนับสนุนเพิ่มและไม่คุ้ม
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้ขยายพื้นที่เขตEEC ไปยังจังหวัดระยอง จันทบุรี ตราด พร้อมให้ศึกษา เส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากสนามบินอู่ตะเภา – ระยอง – จันทบุรี – ตราด เฟส 2 เพื่อเชื่อมต่อการขนส่งไปยังชายแดนกัมพูชา ระยะทางจากกรุงเทพฯ – ตราด ประมาณ 320 กิโลเมตร การขยายพื้นที่เขตเศรษฐกิจและรถไฟความเร็วสูงให้ครอบคลุมภาคตะวันออก เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งการลงทุนและการท่องเที่ยว กำหนดใช้เวลาศึกษาประมาณ 4 เดือน และยังรับทราบ ร่าง พ.ร.บ. EEC ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภา สนช. เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุน
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ( EEC) กล่าวว่า เส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากสนามบินดอนเมือง-สนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 220 กิโลเมตร โดยต้องพัฒนาพื้นที่สถานีมักกะสัน 150 ไร่ สำหรับการเป็นสถานีหลักรถไฟความเร็วสูง รวมที่จอดรถและเชื่อมโยงกับรถไฟใต้ดินสายสีน้ำเงิน โดยเอกชนผู้รับพัฒนาต้องจ่ายค่าเช่าที่ดินให้การรถไฟฯตามราคาตลาด และส่งรายได้เข้ารัฐแบบร่วมรับกำไร (revenue sharing) กรณีรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ มีปัญหาขาดทุนสะสม 1,785 ล้านบาท และภาระหนี้จากการก่อสร้างกว่า 33,000 ล้านบาท เมื่อต้องสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จำเป็นต้องนำโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ มารวมและแก้ปัญหาการขาดทุนในครั้งเดียว โดยเอกชนต้องซื้อกิจการในมูลค่าที่เหมาะสม เพื่อให้ รฟท.นำไปลดภาระหนี้ดังกล่าว
ปัจจุบันของแอร์พอร์ตลิงก์ ประสบปัญหาความแออัดของผู้โดยสาร เนื่องจากมีขบวนรถน้อย แต่ไม่สามารถจัดซื้อรถเพิ่มเติมได้ ผู้โดยสารต้องรอ 15 นาที ต่อขบวนในเวลาเร่งด่วน โดยการเปลี่ยนระบบเป็นรถไฟความเร็วสูงในครั้งนี้ จะยังคงมีรถไฟจอดที่สถานีแอร์พอร์ตลิงก์ทุกสถานีเหมือนเดิม แต่จะมีขบวนรถวิ่งรับผู้โดยสารมากขึ้น ประมาณ 10 นาทีต่อขบวนทั้งนอกชั่วโมงเร่งด่วนและชั่วโมงเร่งด่วน จึงมีทั้งขบวนความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (Exprees Line) และขบวนสำหรับการเดินทางของคนชานเมืองเข้าออกกรุงเทพฯ ( City Line )
สำหรับสถานีศรีราชาประมาณ 100 ไร่ จะใช้เป็นสถานี ที่จอดและอู่ซ่อม เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ กำหนดเงื่อนไขในลักษณะเดียวกันกับมักกะสัน โดยใช้ประโยชน์พื้นที่ 75 ไร่ สำหรับสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูง และอู่ซ่อมรถจักรของการรถไฟ ส่วนพื้นที่ 25 ไร่ นำไปพัฒนาเพิ่มเติม
คาดว่าจะเปิดให้เอกชนทั้งในและต่างประเทศยื่นประมูลสร้างและบริหารโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินได้ในช่วงครึ่งปีหลัง จากนั้นคาดว่าจะลงนามผู้ชนะการประมูลได้ในช่วงกลางปี โดยหลังจากนี้ โครงการลงทุนในเขต EEC ทั้งสนามบินอู่ตะเภา ศูนย์ซ่อมอากาศยาน ท่าเรือแหลมฉบังเฟส ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 จะลงนามได้ในช่วงปลายปี้นี้ ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน สามารถเดินหน้าสานต่อโครงการได้แม้จะเร่ิมเข้าสู่การเลือกตั้ง.-สำนักข่าวไทย