กรุงเทพฯ 26 ก.พ. – กรมสรรพากรคืนภาษีผ่านพร้อมเพย์ร้อยละ 80 ของผู้ได้รับเงินคืน ชาวบ้านนิยมยื่นแบบผ่านเน็ตสูงร้อยละ 90 พร้อมเร่งทำความเข้าใจประชาชนเข้าสู่ระบบภาษีมากขึ้น
นางแพตริเซีย มงคลวนิช รองอธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า หลังเปิดให้ประชาชนยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีประจำปี 2560 ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมจนถึงปัจจุบันผู้มีรายได้บุคคลธรรมดายื่นแบบเสียภาษีแล้ว 2.7 ล้านฉบับ ในจำนวนดังกล่าวขอคืนเงินภาษีสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 หลังจากรัฐบาลมีนโยบายลงทะเบียนพร้อมเพย์กับสถาบันการเงินทั้งธนาคารของรัฐและเอกชน กรมสรรพากรได้คืนเงินภาษีประชาชนผู้ได้รับเงินคืนเมื่อระบบคำนวณภาษีหักค่าลดหย่อนหลายประเภท มีสัดส่วนคืนเงินภาษีร้อยละ 80 ผ่านระบบพร้อมเพย์จากผู้ต้องคืนภาษีทั้งหมด
ทั้งนี้ หลังประชาชนยื่นแบบภาษีผ่านเน็ตวันแรก หากเอกสารรายได้ครบระบบจะประมวลผล จากนั้นวันที่ 2 จะส่งข้อมูลไปยังธนาคารที่ผู้เสียภาษีลงทะเบียนพร้อมเพย์ วันที่ 3 ธนาคารสามารถส่งเงินภาษีคืนได้ เพื่อให้ชาวบ้านนำไปใช้จ่ายใช้เวลาเพียง 3- 4 วัน โดยกรมสรรพากรไม่ต้องพิมพ์เช็คให้มีขั้นตอนเดินทางไปเบิกกับแบงก์อีกขั้นหนึ่ง เมื่อใช้ระบบคืนผ่านพร้อมเพย์นับว่ามีความสะดวกมาก ทำให้ประชาชนเริ่มนิยมยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ตสูงขึ้นต่อเนื่องจากนโยบาย E-Payment ของรัฐบาล ปีนี้จึงมีผู้ยื่นแบบผ่านเน็ตร้อยละ 90 ส่วนที่เหลือยื่นแบบผ่านกระดาษ และปีนี้มีค่าลดหย่อนภาษีหลายรายการทั้งช้อบช่วยชาติ การท่องเที่ยว เงินบริจาค
นางแพตริเซีย กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เริ่มส่งเสริมให้ร้านค้ารายย่อย รายใหญ่ รับชำระเงินซื้อสินค้าผ่านเครื่อง EDC หรือ QR-Code ตามร้านค้า เพื่อความสะดวกในการรับจ่ายเงิน ยอมรับว่ายังมีพ่อค้าแม่ค้าในตลาดสด ตลาดนัด ผู้ค้าทั่วไปยังไม่ยอมติดตั้ง เครื่อง EDC หรือ QR-Code จำนวนมาก เพราะกังวลว่ากรมสรรพากรจะตามไปเก็บภาษี เป็นห่วงว่าจะรับรู้ข้อมูลการค้าขาย นับว่าชาวบ้านยังขาดความเข้าใจการจัดเก็บภาษี จึงต้องเร่งจัดประชุมสัมมนาครั้งใหญ่ และกระจายหลายเวที เพื่อให้สรรพากรทั้งส่วนกลางและในพื้นที่ออกให้ความรู้สร้างความเข้าใจกับทุกฝ่าย เกี่ยวกับผู้มีรายได้ต้องเสียภาษีอย่างไร ได้รับการยกเว้นภาษี หักลดหย่อนภาษีอย่างไรบ้าง เพราะขณะนี้การค้าขายเริ่มหันไปทางออนไลน์มากขึ้น จึงต้องทำความเข้าใจกับผู้ค้าขายหรือผู้มีรายได้ หากรู้จักยื่นแบบประจำ ก็ไม่จำเป็นต้องเสียภาษีสำหรับรายย่อยรายได้ไม่ถึงกำหนดต้องจ่าย เพราะสรรพากรพื้นที่จะรับรู้แทบทุกตารางนิ้วในพื้นที่ของตนเองว่ามีกิจกรรมค้าขายอย่างไรบ้าง. – สำนักข่าวไทย