กรมสุขภาพจิต 25 ก.พ.-รพ.จิตเวชสงขลาฯ พัฒนาเครื่องมือค้นหาผู้ป่วยโรคบาดแผลทางใจสำเร็จแห่งแรกในอาเซียน หลังกรมสุขภาพจิตสำรวจพบคนไทยป่วยโรคนี้กว่า 4.7 แสนคนโดยเฉพาะ 4 จังหวัดภาคใต้ โดยให้ตอบ 2 คำถาม ค้นหาสภาพจิตใจ นำไปสู่การเยียวยาได้ทันท่วงที
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมโรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชสงขลาราชนครินทร์ จ.สงขลา และศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 จ.ปัตตานี ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามนโยบาย ว่า นอกจากรพ.จิตเวชสงขลาฯจะเป็นศูนย์เชี่ยวชาญรักษาโรคจิตเวชที่มีความรุนแรงซับซ้อนยุ่งยากประจำเขตสุขภาพที่ 12 ได้แก่สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส พัทลุง ตรัง และสตูล แล้ว กรมสุขภาพจิตมีนโยบายพัฒนาให้รพ.แห่งนี้เป็นศูนย์เชี่ยวชาญการดูแลและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดมาจากภัยวิกฤติทุกประเภท ที่มีความรุนแรงที่สุดคือโรคพีทีเอสดี (Post Traumatic Stress Disorder :PTSD) หรือโรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าโรคบาดแผลทางใจ ซึ่งในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเสี่ยงเกิดโรคนี้ได้สูงกว่าพื้นที่อื่น เนื่องจากมีเหตุการณ์ความไม่สงบอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2547- เดือนธันวาคม 2560 มีรายงานเกิดเหตุการณ์ทั้งหมด 19,622 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 6,703 ราย และบาดเจ็บรอดชีวิต 13,247 คน
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ผลสำรวจของกรมสุขภาพจิต ในปี 2556 พบคนไทยอายุ18 ปีขึ้นไป ป่วยโรคพีทีเอสดีตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมาร้อยละ 0.9 คาดขณะนี้ทั่วประเทศจะมีคนเป็นโรคนี้ประมาณ 470,000 คน จึงต้องเร่งป้องกันโดยค้นหาผู้ป่วยให้ได้เร็วที่สุดและให้การดูแลอย่างต่อเนื่องจนหมดความเสี่ยง ขณะนี้รพ.จิตเวชสงขลาได้วิจัยและพัฒนาเครื่องมือค้นหาโรคพีเอสดีเป็นผลสำเร็จ มีเพียงคำถาม 2 คำถาม คือ 1. ประสบการณ์เผชิญเหตุสะเทือนใจอย่างรุนแรงในชีวิต เช่น ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกจับเป็นตัวประกัน สูญเสียบุคคลใกล้ชิดอย่างกะทันหัน ภัยพิบัติต่างๆ ทำให้มีอาการทางจิตใจเกิดขึ้น เช่นตื่นตัวตลอดเวลาหรือหวนระลึกถึงเหตุการณ์ซ้ำๆ และ 2. เหตุการณ์มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน เช่นกินไม่ได้ นอนไม่หลับ โดยผลการทดสอบพบว่าให้ผลแม่นยำสูงถึงร้อยละ 89 เครื่องมือชนิดนี้ยังไม่เคยมีใช้ที่ไหนมาก่อน จึงนับเป็นความสำเร็จแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน จะช่วยให้บุคลากรการแพทย์ค้นหาปัญหาทางจิตใจได้เร็ว สามารถให้การเยียวยาได้อย่างทันท่วงที จะช่วยลดความเสี่ยงเกิดโรคนี้ได้ร้อยละ 90 ขณะนี้กรมฯได้ขยายผลใช้ทั่วประเทศแล้ว สามารถใช้ได้กับทุกเหตุการณ์รุนแรง และได้ให้ศูนย์สุขภาพจิตที่12แปลเป็นภาษามลายูใช้ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างด้วย
ด้าน พญ.บุญศิริ จันศิริมงคล ผู้อำนวยการรพ.จิตเวชสงขลาราชนครินทร์ กล่าวว่าขณะนี้รพ.ได้เผยแพร่แบบประเมินหาโรคพีทีเอสดีทางอินเทอร์เน็ต ทาง www.skph.go.th เพื่อให้ประชาชนที่เผชิญวิกฤติต่างๆหรือเหตุการณ์ที่เลวร้ายในชีวิต ใช้ประเมินตัวเองได้จากระบบเสียงและข้อความ ใช้เวลาไม่ถึง 1 นาทีก็ทราบผล หากพบว่ามีความเสี่ยงเกิดโรคพีทีเอสดีจะมีคำแนะนำให้พบจิตแพทย์ที่รพ.จิตเวชทั่วประเทศ หรือปรึกษาสายด่วน 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง และอยู่ระหว่างพัฒนาเป็นแอพพลิเคชั่น เพื่อให้ความรู้ประชาชน และใช้ประเมินความเสี่ยงของตนเองได้สะดวกขึ้นทางมือถือ
พญ.บุญศิริ กล่าวต่อว่า โรคพีทีเอสดีหรือบาดแผลทางใจ เป็นโรคจิตเวชที่เกิดภายหลังเหตุวิกฤติต่างๆ มีผลกระทบรุนแรงต่อผู้เผชิญเหตุการณ์หรือรอดชีวิต หากเกิดกับเด็กและวัยรุ่นจะมีผลต่อพัฒนาการทางสมอง บุคลิกภาพ และอารมณ์ ทำให้ไม่มีสมาธิในการเรียนหรือทำสิ่งต่างๆ บางครั้งทำให้เด็กรู้สึกตนเองไม่มีคุณค่า อาจกลายเป็นคนเก็บตัว อารมณ์ถูกกระตุ้นได้ง่าย อาจกลายเป็นคนก้าวร้าว หรือซึมเศร้า หากเกิดในหญิงตั้งครรภ์ บาดแผลทางใจจะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนบางตัวออกมาเช่น คอร์ติซอล ( Cortisol) สามารถผ่านทางรก ทำให้เด็กในครรภ์มีขนาดศีรษะเล็กกว่าปกติ มีผลต่อพัฒนาการของสมองและมีผลต่อสติปัญญา อาการของโรคพีทีเอสดีนี้ สามารถเกิดขึ้นได้แม้เหตุการณ์จะผ่านไปแล้วนานกว่า 6 เดือนก็ตาม
ทั้งนี้ อาการเด่นของโรคมี 8 อาการ คือ1.นอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท 2.หงุดหงิดง่าย 3.ฝันร้ายระลึกถึงเหตุการณ์ร้ายนั้นซ้ำๆ 4.เฉยเมยต่อญาติและเพื่อนๆ 5. รู้สึกผิดที่ตนเองรอด ขณะที่คนอื่นตาย 6. ตกใจง่ายเมื่อเกิดอะไรผิดปกติรอบตัว เช่นผวาอย่างรุนแรงเมื่อได้ยินเสียงดัง 7. รู้สึกบ่อยๆว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นซ้ำอีก และ8. ไม่ยอมเข้าใกล้สถานที่หรือสถานการณ์ที่ชวนให้นึกถึงเหตุร้ายนั้นซ้ำอีก
สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคพีทีเอสดีที่มารับบริการที่รพ.จิตเวชสงขลาราชนครินทร์ในรอบ 1 ปีมานี้มีประมาณ 30 คน มักพบมีโรคทางจิตเวชอื่นๆร่วมด้วย ได้แก่ โรคซึมเศร้าพบร้อยละ 90 รองลงมามีความคิดฆ่าตัวตายพบร้อยละ 55 ใช้สารเสพติด ร้อยละ 16 และใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร้อยละ 7 แต่หลังจากได้รับการรักษาเป็นเวลา 6 เดือน พบว่าร้อยละ 96 อาการดีขึ้น .-สำนักข่าวไทย