นนทบุรี 25 ก.พ. – พาณิชย์หามาตรการเสริมผ่านกองทุนเอฟทีเอช่วยผ้าทอไทยสู้ศึกเปิดเสรีเอฟทีเออาเซียน-จีน เป็นผลสำเร็จ ทำให้สินค้าได้รับความนิยมและยอดขายเพิ่มขึ้น
นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมฯ ได้นำคณะกรรมการบริหารกองทุนโครงการช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า (กองทุนเอฟทีเอ) ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าแนวทางความช่วยเหลือกลุ่มทอผ้าไทลื้อบ้านหาดบ้าย อ.เชียงของ จ.เชียงราย โดยเห็นว่ากลุ่มทอผ้ามีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ผลิตสินค้าโดยใช้นวัตกรรมและวัฒนธรรมสร้างสรรค์เข้ามาประยุกต์ใช้กับสินค้า จนได้ผ้าทอที่มีสีสันสวยงามและลวดลายเป็นเอกลักษณ์ ทำให้สินค้าได้รับความนิยมและจำหน่ายเพิ่มขึ้นและราคาดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ แนวทางช่วยเหลือผ่านกองทุนเอฟทีเอในกลุ่มผู้ผลิตผ้าทอในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำปาง เชียงราย แพร่ และน่าน โดยการคัดเลือก 3 ชุมชน ถือเป็นกลุ่มที่มีความแตกต่างกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ คือ กลุ่มพันดาว จ.ลำปาง กลุ่มฝ้ายเชิงดอย จ.เชียงใหม่ และกลุ่มน้ำมอญแจ้ซ้อน จ.ลำปาง ดังนั้น จึงได้ศึกษาเชิงลึกด้านกระบวนการผลิตและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิต และนำไปสู่ต้นแบบการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตผ้าทอมือ รวมทั้งมีการนำสีล้านนาจากภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังวัดพระบฎมาถอดสี โดยปรึกษาจิตรกรสีและผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ได้โทนสีล้านนา และนำผ้าทอของแต่และกลุ่มมาศึกษาด้านความเป็นอัตลักษณ์ของล้านนาเพื่อสร้าง story แล้วนำมาเป็นจุดขาย และพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยใช้ชื่อแบรนด์ La Chrom Be มี concept city crove ที่เป็นสากลแต่ยังคงความเป็นล้านนา รวมทั้งพัฒนาข้อมูลพันธุ์ฝ้าย ฐานข้อมูลเกี่ยวกับเกษตรกร แผนที่แปลงปลูกฝ้าย แมลงศัตรูฝ้าย โรคต่าง ๆ วัตถุดิบในการย้อมสีธรรมชาติ แหล่งวัตถุดิบ พื้นที่ปลูก ข้อมูลพื้นฐานชุมชน สูตรการย้อมสีต่าง ๆ โดยออกแบบระบบฐานข้อมูลเพื่อรองรับการใช้งานในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีฐานข้อมูลด้านวัตถุดิบการผลิตพันธุ์ฝ้ายดั้งเดิมของภาคเหนือตอนบนและวัตถุดิบสีย้อมธรรมชาติ (http://www.lannatextiles.net/) และยังมีการพัฒนาสีล้านนาร่วมสมัยสำหรับการย้อมผ้า โดยการศึกษาสีที่เป็นตัวแทนของสีล้านนาร่วมสมัย 4 แนวทาง คือ จิตรกรรมฝาผนังล้านนา 30 ภาพ พระบฏล้านนา 26 ภาพ จิตรกรล้านนา และจากผู้เชี่ยวชาญผ้าล้านนา โดยการสร้าง Color palette ของสีล้านนาร่วมสมัยสำหรับการย้อมผ้าฝ้าย 8 โทนสี ซึ่งสีย้อมธรรมชาตินั้นให้สีแท้ของสีล้านนาร่วมสมัย คือ สีน้ำตาล เหลือง ส้ม แดง เทา ม่วง น้ำเงิน และเขียวให้เลือกได้
ทั้งนี้ จากความสำเร็จของการเข้าไปช่วยเหลือของกองทุน FTA ไม่เพียงแต่ทำให้มีผ้าทอที่มีสีสันสวยงาม และเป็นเอกลักษณ์ แต่ยังมีการต่อยอดนำผ้าทอไปผลิตเป็นสินค้าสิ่งทออื่น ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น เช่น เสื้อผ้าสุภาพบุรุษ สุภาพสตรีวัย ภายใต้ชื่อ “Lanna Natural Chrome Beats Spring-Summer Collection 2018” กระเป๋าผ้า และสร้อยเชือกกล้วย เป็นต้น ซึ่งได้รับความนิยมไม่แพ้กัน โดยโครงการดังกล่าวเป็นการเข้าไปให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มผู้ผลิตผ้าทอ เพราะผลจากการเปิดเสรีภายใต้ความตกลงอาเซียน-จีน ปี 2559 ส่งผลให้สินค้าสิ่งทอและของที่ทำด้วยสิ่งทอ 1,059 รายการ ลดภาษีลงเหลือร้อยละ 0 ทำให้สินค้าสิ่งทอจีนเข้ามาแข่งขันในไทยราคาถูกกว่าจนกระทบผู้ประกอบการไทย ซึ่งกองทุนเอฟทีเอเล็งเห็นถึงปัญหานี้จึงเข้าไปให้ความช่วยเหลือเพื่อให้มีการปรับตัว ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ นวัตกรรม ทักษะแรงงาน เทคนิคการย้อมที่มีคุณสมบัติพิเศษและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สามารถแข่งขันได้ภายใต้ผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าได้.-สำนักข่าวไทย