ทำเนียบฯ 20 ก.พ.- คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ แถลงความคืบหน้า เน้นการสร้างวินัยการออมให้ประชาชนมีรายได้หลังเกษียณไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ของรายได้สุดท้าย เข้าถึงการบริการสาธารณสุข สร้างความรับรู้เท่าทันสื่อ
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม พร้อมด้วยนายเสรี ตู้จินดา ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข และนายจิรชัย มูลทองโร่ย ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน ร่วมกันแถลงความคืบหน้าการปฏิรูปประเทศไทย หัวข้อ “สุขภาพดี สังคมแข็งแรง สื่อสร้างสรรค์”
นายปีติพงศ์ กล่าวว่า การปฏิรูปด้านสังคมถือเป็นเรื่องที่มีกรอบการทำงานที่กว้าง ดังนั้นจึงได้สกัดสิ่งที่สำคัญต่อประชาชน 5 ประเด็น อาทิปรับปรุงระบบการออม ทั้งภาคสมัครใจและภาคบังคับ เพื่อให้คนไทยทุกคนที่มีอาชีพ มีเงินใช้เพียงพอหลังวันเกษียณ รองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยกำหนดให้คนไทยมีรายได้หลังเกษียณจนถึงวัยชราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ของรายได้สุดท้าย ด้วยการส่งเสริมการออมภาคบังคับโดยคืนภาษีมูลค่าเพิ่มส่วนหนึ่งเป็นเงินออมให้กับกลุ่มเป้าหมาย พร้อมปรับปรุงระบบความช่วยเหลือและเสริมสร้างศักยภาพผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงวัย ผู้เสียเปรียบ ทางสังคม ลดความเหลื่อมล้ำเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์และบริการของรัฐ รวมถึงต้องส่งเสริมชุมชนให้เกิดความเข็มแข็ง และสานต่อพระราชปณิธาน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เรื่องกลไกอาสาสมัคร หรือกลุ่มจิตอาสา เพื่อให้เกิดความร่วมมือจากส่วนรวม
ด้านนายเสรี กล่าวว่า การปฏิรูปด้านสาธารณสุข จะเน้นการสร้างความสมดุลในระบบโดยคำนึงถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย เป้าหมายสูงสุดคือสุขภาวะที่ดีของประชาชนไทยที่ยั่งยืนในระยะยาว โดยจะให้ความสำคัญกับ 4 เรื่องหลัก ได้แก่ ระบบบริหาร ระบบริการและคุ้มครองผู้บริโภค ข้อมูลสารสนเทศและกำลังคน ระบบการเงินการคลัง ทั้งนี้ได้วางแนวทาง สร้างระบบ”เข้าใจ” ถึงความต้องการด้านการดูแลสุขภาพและการรักษาพยาบาลของประชาชน
นายเสรี กล่าวว่า ต้องพัฒนาระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่ไม่รอให้ประชาชนเจ็บป่วยจึงค่อยรักษา ทำงานเชิงรุกในระดับพื้นที่ย่อย มีทีมแพทย์และผู้เชี่ยวชาญหลากสาขาทำงานร่วมกันโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ประชาชนมีความไว้วางใจไม่ต้องไปรอรับบริการอย่างแออัดที่โรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น พร้อมส่งเสริมการแพทย์แผนไทย รวมทั้งปรับแนวคิดเรื่องการใช้สมุนไพรให้มีความยืดหยุ่นแต่ตรงตามหลักวิชาการ และจะกระจายการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขไปสู่พื้นที่ รวมถึงมีเอกภาพด้านนโยบายระดับประเทศ เพื่อแก้ปัญหาความไม่กลมกลืนของระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และต้องก้าวทันและใช้ประโยชน์ความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว และต้องจัดการด้านการเงินการคลังอย่างเหมาะสม โดยยึดหลักว่าการใช้จ่ายด้านสุขภาพเป็นการลงทุนทางสังคมที่คุ้มค่า
ด้านนายจิรชัย กล่าวว่า การปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยี จะเน้นการสร้างการรู้เท่าทันสื่อของประชาชน เพื่อให้ประชาชนสามารถแยกแยะข้อมูลข่าวสารที่เป็นโทษ หรือเป็นประโยชน์ ข่าวลวง ข่าวปลอม เพราะปัจจุบันช่องทางการสื่อสาร เป็นไปอย่างรวดเร็วจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมกำกับดูแลสื่อออนไลน์ควบคู่ไปด้วย นอกจากนี้ยังต้องการปฏิรูปสื่อสารมวลชนให้เป็นเสมือนโรงเรียนของสังคมให้ความรู้แก่ประชาชน ปลูกฝังวัฒนธรรม สร้างทัศนคติที่ดีต่อประชาชน ทั้งนี้การปฎิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมสื่อมวลชนจะให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนวิธีการประมูลคลื่นความถี่ สำหรับกิจการวิทยุและกิจการโทรทัศน์ จากการใช้ราคาสูงสุดเป็นเกณฑ์ตัดสิน เป็นการใช้คุณสมบัติและข้อเสนอเชิงคุณภาพ รายการของผู้ประมูล พิจารณาปรับปรุงการบริหารจัดงานโทรทัศน์ของรัฐ องค์กรอิสระและรัฐวิสาหกิจ เช่น สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และอสมท.เพื่อให้การใช้คลื่นความถี่เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่ามากขึ้น ขณะเดียวกันรัฐอยู่ระหว่างการศึกษาหาทางออก ให้กับผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ ที่ร่วมประมูลทีวีดิจิตอล.-สำนักข่าวไทย