ก.ศึกษาฯ 1 ก.พ.-รมว.ศึกษาฯ สั่งการ ผอ.เขตพื้นที่ ตรวจเยี่ยมโรงเรียนขนาดเล็กทุกสัปดาห์ พร้อมรายงานผลมายัง สพฐ. หลังไม่ทราบสภาพปัญหา จนกระทบคุณภาพการจัดการศึกษา
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงผลการศึกษาสภาพจริงของโรงเรียนขนาดเล็ก ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ว่า ได้รับฟังข้อมูลการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 15,000 โรงเรียน พบว่าแต่ละแห่งมีปัญหาคล้ายกัน แต่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น จึงได้ให้นโยบายการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก อย่างแรกต้องเข้าใจว่า ที่ผ่านมามีแนวทางในการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่หลากหลายวิธี เช่น ยุบรวม ควบรวม แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการแก้ไขได้สำเร็จ เพราะคนที่คิดแก้ปัญหา กับคนที่พบปัญหาไม่ใช่คนเดียวกัน ดังนั้น การจะแก้ปัญหานี้ได้จะให้ใช้วิธีใหม่ โดยให้พื้นที่เสนอปัญหาที่ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลแล้วเข้ามา หากพบว่ามีปัญหาใดที่ต้องการการสนับสนุนงบประมาณก็ให้เสนอเข้ามาอย่างเร่งด่วน เพื่อแปลงงบประมาณบางส่วนมาใช้ในการแก้ไขปัญหา
ขณะเดียวกันให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและศึกษาธิการจังหวัดทั่วประเทศ จะต้องลงไปตรวจเยี่ยมโรงเรียน เป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อให้รู้ว่ามีโรงเรียนในพื้นที่ใดมีปัญหาอะไรบ้างแล้วทำรายงานเสนอกลับ มาเป็นรายโรงเรียน รวมถึงเสนอแนวทางแก้ไขและงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการ แก้ไขด้วย ซึ่งเรื่องนี้ตนจะกำหนดเป็นตัวชี้วัดหนึ่งในการทำงานของผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาด้วย เพราะที่ผ่านมาบางเขตพื้นที่ไม่เคยไปเยี่ยมโรงเรียนเลย ส่งผลต่อคุณภาพของการจัดการศึกษาทั้งนี้จากการรายงานของผู้ตรวจราชการศธ. ครั้งล่าสุด ก็พบว่า มีโรงเรียนที่สอนระดับอนุบาลห้องละคนนั้น พอลงไปตรวจสอบสภาพปัญหาจริง พบว่าเกือบทั้งหมดมีความจำเป็นที่ต้องยุบรวม เช่น ในพื้นที่นั้นไม่มีโรงเรียนเอกชน โรงเรียนอยู่ในพื้นที่ห่างไกล องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการสอนไม่ได้ เป็นต้น
ด้านนายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า เป้าหมายการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ขณะนี้ไม่ใช่การลดจำนวนโรงเรียนลง แต่เป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาโดยให้ผู้ปกครอง ครูและโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ เป็นผู้ตัดสินใจ ขณะที่ สพฐ.มีหน้าที่ในการสนับสนุน เชิงนโยบายลงไปให้ ซึ่งเท่าที่ดูปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็ก พบในลักษณะเดียวกันคือขาดปัจจัยพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า เรือนพักนอน สำหรับนักเรียนที่อยู่ห่างไกล และมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ เป็นต้น โดยเบื้องต้น สพฐ.จะมีการยืดหยุ่นงบลงทุนโครงการสร้างพื้นฐานต่าง ๆมาปรับใช้ในการบกระดับคุณผู้เรียนก่อน เพราะปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อนักเรียนและห้องเรียนโดยตรง.-สำนักข่าวไทย