กรุงเทพฯ 29 ม.ค. – การก้าวเข้าสู่สังคมยุคดิจิทัล ทำให้พฤติกรรมการทำธุรกรรมทางการเงินเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมธนาคาร โดยเฉพาะปีที่ผ่านมา มีการปิดและควบรวมสาขาธนาคารพาณิชย์กว่า 230 สาขา พร้อมกับลดจำนวนพนักงาน มุ่งสู่การให้บริการธุรกรรมการเงินอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น
การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านเครื่องอัตโนมัติ VTM ที่มีพนักงานคอยให้คำแนะนำลูกค้าผ่านทางหน้าจอ 24 ชั่วโมง ซึ่งทำได้ทั้งการเปิดบัญชีใหม่ สมัครบัตรเดบิต และบริการ Mobile Banking เป็นการเปิดสาขาดิจิทัล ที่ธนาคารออมสิน เริ่มนำร่อง 5 สาขาในชุมชนเมือง ตั้งแต่ปีที่แล้ว และเตรียมขยายเพิ่มเป็น 20 สาขาในปีนี้ เช่นเดียวกับการตั้งเป้าเพิ่มยอดใช้บริการดิจิทัลด้านต่างๆ เช่น Mobile Banking บัตรอิเล็กทรอนิกส์ และบริการชำระค่าสินค้าผ่าน QR Code ที่ธนาคารต้องให้บริการควบคู่ไปพร้อมกับระบบปกติ ซึ่งกำลังมีการลดขนาดสาขา
ธนาคารกรุงไทย ก็ปรับตัวรองรับลูกค้ายุคดิจิทัล สนับสนุนสังคมไร้เงินสด เช่น ให้บริการชำระค่าสินค้าด้วย QR Code และการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาให้บริการ เพื่อลดต้นทุนทางธุรกิจ หลังปีก่อนปิดสาขาไปแล้ว 80 แห่ง และไม่รับพนักงานเพิ่ม คาดว่าจะลดได้อีก 30% ในอีก 5 ปีข้างหน้า
นอกจากสถาบันการเงินของรัฐแล้ว ธนาคารพาณิชย์เกือบทุกแห่งก็ได้รับผลกระทบ และต้องปรับตัวกันขนานใหญ่ หลายที่ต้องปรับยุบสาขา และลดจำนวนพนักงาน เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ออกมาประกาศปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ รับสังคมยุคดิจิทัล ตั้งเป้าลดต้นทุนดำเนินงานให้ได้ 30% ภายในปี 2563 โดยจะลดสาขารูปแบบเดิมที่มี 1,170 แห่ง ให้เหลือ 400 แห่ง พนักงานธนาคารที่มีทั้งสิ้น 27,000 คน อาจปรับลดเหลือ 15,000 คน
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ในปี 2560 มีการปิดและควบรวมสาขาธนาคารพาณิชย์กว่า 230 แห่ง โดยธนาคารที่มีการลดจำนวนสาขามากที่สุด ได้แก่ กรุงไทย 92 สาขา กสิกรไทย 82 สาขา ธนชาต 69 สาขา และทหารไทย 21 สาขา เพื่อลดต้นทุนการให้บริการด้านการเงิน ซึ่งถือว่าสูงมาก เมื่อกับเทียบหลายประเทศ
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย บอกอีกว่า แม้การให้บริการธุรกรรมการเงินอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นจะช่วยลดต้นทุน และทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่ถูกลง แต่สถาบันการเงินก็ควรให้ความสำคัญกับประชาชนที่ได้รับกระทบจากการปิดสาขา และมีมาตรการที่เหมาะสมในการดูแลพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง. – สำนักข่าวไทย