กรุงเทพฯ 23 ม.ค. – กกร.เผยไม่ขัดการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของคณะกรรมการค่าจ้างแรงงานกลาง แต่เห็นว่าสูงเกินไปไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในแต่ละพื้นที่ หวั่นกระทบภาคเกษตร บริการ และเอสเอ็มอี วอนรัฐทบทวนมติใหม่และให้เป็นไปตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวถึงผลกระทบต่อการปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 ว่า ได้สอบถามความคิดเห็นไปยังสมาชิกทั่วประเทศ พบว่า กว่าร้อยละ 92 ของจังหวัดทั้งหมด เห็นว่าปรับเกินกว่าที่คณะอนุกรรมการจังหวัดเสนอ ซึ่งจะส่งผลต่อ 35 จังหวัด ที่คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดไม่ได้เสนอปรับขึ้นค่าจ้าง อาทิ จังหวัดระยอง มีการปรับเพิ่มค่าจ้างเป็น 330 บาทต่อวัน จากเดิม 308 บาทต่อวัน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 7 ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของเศรษฐกิจในพื้นที่
ทั้งนี้ กกร.จะเสนอรัฐบาลให้ทบทวนมติอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ได้มีมติออกมาตามคณะกรรมการค่าจ้างแรงงานกลาง ซึ่งการปรับขึ้นอยากให้เป็นไปตามมติของคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดและสอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมาย มาตรา 87 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 นอกจากนี้ เห็นว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าจ้างแรงงานและการผลิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคเกษตร บริการ และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ซึ่งจะเป็นการเร่งให้มีอัตราการว่างงานสูงขึ้น จากการที่ผู้ประกอบการนำเครื่องจักรและเทคโนโลยีมาทดแทนแรงงาน อีกทั้งการปรับค่าจ้างที่เกินพื้นฐานสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจและสังคมจะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อประเทศในภาพรวม รวมทั้งค่าครองชีพจะสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนได้
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ (23 ม.ค.) กกร.จะนำเสนอมติดังกล่าวต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อย่างเป็นทางการ พร้อมจะฟังผลจากรัฐบาลว่าจะมีการทบทวนมติหรือไม่ หากไม่มีการทบทวน กกร.จะมีการสำรวจผลกระทบจากอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่ปรับขึ้นให้มีความชัดเจนอีกครั้ง
ทั้งนี้ ภาคเอกชนอยากให้รัฐบาลเร่งโครงการโครงสร้างพื้นฐานหรือโครงการกระตุ้นแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เศรษฐกิจในพื้นที่เหล่านั้นมีอัตราการเติบโตที่ดี. – สำนักข่าวไทย