จอร์จ 9 ต.ค.- เมืองจอร์จ ริมฝั่งทางใต้ของแอฟริกาใต้ มีท่าอากาศยานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานหลักในการทำงานทุกอย่างเป็นแห่งแรกของภูมิภาค
ท่าอากาศยานแห่งนี้ติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ จำนวน 2,000 แผง ผลิตไฟฟ้าได้วันละ 750 กิโลวัตต์ ขณะที่ต้องการใช้งานเพียงวันละ 400 กิโลวัตต์ สำหรับหอควบคุมการจราจรทางอากาศ บันไดเลื่อน เคาน์เตอร์เช็กอินผู้โดยสาร สายพานลำเลียงกระเป๋า ร้านอาหาร และตู้เอทีเอ็ม ไฟฟ้าส่วนเกินจึงถูกส่งกลับไปยังสายไฟฟ้าของเทศบาล เพื่อจ่ายให้แก่ 274 ครัวเรือน จากประชากรทั้งเมือง 150,000 คน
ท่าอากาศยานจอร์จ สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2520 ในยุคที่มียังมีนโยบายแบ่งแยกสีผิว สำหรับนายพี ดับเบิลยู โบธา นายกรัฐมนตรีคนสุดท้ายและประธานาธิบดีคนแรกใช้เดินทางกลับบ้าน ปัจจุบันได้รับการปรับปรุงเป็นศูนย์กลางขนส่งดอกไม้ หอยนางรม และนักกอล์ฟ แต่ละปีมีผู้โดยสารใช้บริการ 700,000 คน นำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ตั้งแต่เดือนกันยายนปีก่อน ถือเป็นแห่งที่ 2 ของโลก รองจากท่าอากาศยานโคชิหรือโคชิน ทางใต้ของอินเดีย ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ถึง 1,229 ตัน เพราะลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลถึง 103,934 ลิตร และลดค่าไฟฟ้าได้ถึงร้อยละ 40 ภายใน 1 ปี คาดว่าใช้เวลาอีกเพียง 5-10 ปี ก็จะคืนทุนที่ใช้ลงทุนพลังงานแสงอาทิตย์ 16 ล้านแรนด์ (ราว 40.23 ล้านบาท).-สำนักข่าวไทย