กทม. 10 ม.ค. – ใน 3 ปีนี้ คือ ตั้งแต่ปี 2561-2563 จะมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายสาย มีความกังวลว่าทำให้การจราจรในกรุงเทพฯ วิกฤติหนัก โดยเฉพาะฝั่งตะวันออก เช่น ลาดพร้าว รามคำแหง และมีนบุรี ตำรวจจึงประเมินผลกระทบและจำลองรูปแบบการจราจรเพื่อแก้ปัญหารถติด
นี่เป็นสภาพการจราจรบนถนนย่านมีนบุรี กรุงเทพฯ ซึ่งมีปริมาณรถหนาแน่น และเป็นแนวการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี ที่กำลังดำเนินการก่อสร้าง ระยะทางกว่า 34 กิโลเมตร จำนวน 30 สถานี ผ่านถนนที่มีรถติดหนัก เช่น สนามบินน้ำ แยกแคราย แจ้งวัฒนะ รามอินทรา และจะมีการปิดการจราจรบางส่วนเพื่อรื้อย้ายระบบสาธาณูปโภคกลางเดือนนี้
เช่นเดียวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ที่จะเริ่มก่อสร้างอยู่บนนถนนสายหลัก เช่นหน้า เช่น รัชดาภิเษก พระราม 9 ช่วงสำนักงาน รฟม. และรามคำแหง 151/1-159 มีการเบี่ยงเส้นทางการจราจรบางช่วงในสัปดาห์นี้
ส่วนอีกโครงการ คือ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง สำโรง-ลาดพร้าว ระยะทางกว่า 30 กิโลเมตร 23 สถานี จะเริ่มการสำรวจแนวสาธารณูปโภคและเริ่มก่อสร้างเช่นกัน แต่ละโครงการเป็นการก่อสร้างตามแนวถนนสายหลักและมีการจราจรหนาแน่นในช่วงปกติ
รอง ผบช.น ระบุว่าในต้นปีนี้ โครงการรถไฟฟ้าหลายแห่งที่จะเกิดขึ้นและเตรียมการปิดการจราจร จะทำให้กรุงเทพฯ ประสบปัญหารถติดเพิ่มขึ้นไปจนถึงปี 2563 จุดวิกฤติที่น่าห่วงคือ กรุงเทพฝั่งตะวันออก เป็นจุดเชื่อมต่อโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายสาย มีการกำหนดมาตรการ เช่น การเบี่ยงช่องทาง การขยายผิวจราจร เปลี่ยนจุดกลับรถ นำข้อมูลที่ได้มาจำลองรูปแบบการจราจรเพื่อหาแนวทางลดผลกระทบจากปัญหารถติด
ก่อนการเข้าดำเนินการก่อสร้างและปิดการจราจร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งผู้รับเหมา การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ประชุมเพื่อสรุปแผนงานร่วมกัน เพื่อให้การก่อสร้างส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ถนนน้อยที่สุด
นักวิชาการด้านคมนาคมจากจุฬาฯ ระบุว่า การพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าขนส่งในกรุงเทพฯ จะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตคนเมืองในระยะยาว และต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางในประเทศ จะทำให้โครงสร้างพื้นฐานที่กำลังเกิดขึ้น แก้ปัญหาด้านจราจรและคุณภาพชีวิตได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
มีข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พบว่ามีรถจดทะเบียนสะสมในกรุงเทพมหานคร เกือบ 10 ล้านคัน ทำให้ถนนที่มีความเร็วรถเฉลี่ยต่ำสุดในชั่วโมงเร่งด่วนช่วงเช้าคือ ถนนกรุงธนบุรี และถนนพระราม 9 ส่วนช่วงเย็น คือ ถนนสุขุมวิท และถนนราชวิถี ขณะที่การก่อสร้างรถไฟฟ้าบางสายอยู่ในถนนที่มีการจราจรหนาแน่น รวมขณะนี้มีการก่อสร้างกว่า 6 โครงการ บางเส้นทางกำหนดสร้างแล้วเสร็จในอีก 3- 4 ปีข้างหน้า. – สำนักข่าวไทย