กรุงเทพฯ 24 ม.ค. – ปลัดสำนักนายกฯ ลุยตรวจมาตรการป้องกันฝุ่น PM 2.5 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ยืนยัน รฟม.มี 4 มาตรการดูแลพื้นที่ก่อสร้างตามมาตรฐาน EIA
นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในฐานะกำกับดูแลศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์จากประชาชนในส่วนของสำนักนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่กระจายอยู่ในอากาศพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงในฐานะประธานกรรมการตรวจสอบการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม.ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบงานก่อสร้างรถไฟฟ้าเส้นทางต่าง ๆ โดยวันนี้ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรีตามจุดต่าง ๆ ของแนวเส้นทางที่มี 23 กิโลเมตร
เบื้องต้นพบว่า รฟม.และผู้รับจ้างก่อสร้างนำมาตรการ 4 ด้าน เพื่อป้องกันและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตามที่กำหนดไว้ในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อย่างเคร่งครัด เช่น การเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดพื้นที่ก่อสร้างและถนนสาธารณะด้วยรถกวาดดูดฝุ่นและการฉีดล้าง การดูแลทำความสะอาดล้อของยานพาหนะที่เข้าออกพื้นที่ก่อสร้างด้วยการล้างคราบดิน รวมทั้งการปิดคลุมกระบะรถบรรทุกให้มิดชิดป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่น การห้ามติดเครื่องยนต์ทิ้งไว้ในพื้นที่ก่อสร้าง และพิจารณาพื้นผิวจราจร โดยจะใช้ช่องจราจรการก่อสร้างที่จำเป็นมีการประสานกับตำรวจจราจร เพื่อให้เกิดความคล่องตัวของการจราจรไม่ส่งผลติดขัดจนก่อให้เกิดมลพิษควันดำ และสุดท้ายการตั้งจุดปล่อยละอองน้ำแรงดันสูง เพื่อกำจัดฝุ่นละอองในอากาศของพื้นที่ก่อสร้าง
“นอกจากมาตรการทั้ง 4 ด้านนำมาใช้แล้วจะมีการติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 อย่างใกล้ชิด หากพบว่าช่วงเวลาใดมีสภาพอากาศนิ่งและจำเป็นต้องมีการหยุดงานก่อสร้างที่มีความจำเป็นเป็นการชั่วคราวก็สามารถพิจารณาได้ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์” ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ในการกำกับดูแลเพื่อลดผลกระทบปัญหาฝุ่น PM 2.5 นั้น ยืนยันว่ารัฐบาลจะติดตามแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการส่งเจ้าหน้าที่บูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งส่วนของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและอื่น ๆ ทำการตรวจสอบพื้นที่งานก่อสร้างเป็นประจำทุกเดือนและมีการ checklist มาตรการการดูแลพื้นที่ โดยจะดำเนินการต่อเนื่องจนกว่าโครงการฯ แล้วเสร็จ.-สำนักข่าวไทย