สำนักข่าวไทย 8 ม.ค.-ปลัดกระทรวงแรงงาน เผย 10 ม.ค.นี้รู้ผล จังหวัดไหนขึ้นค่าจ้างเท่าใด พร้อมเรียกฝ่ายนายจ้างเคลียร์ห้ามเบี้ยวนัด ด้านนายจ้างโอดขึ้น 15 บาทรับไม่ได้
นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะประธานคณะ กรรมการค่าจ้าง กล่าวว่า ในวันที่ 10 ม.ค.2561 นี้ เวลา 09.30 น.จะมีการประชุมพิจารณาการปรับค่าจ้างของบอร์ดค่าจ้างทั้ง 3 ฝ่าย หลังเลื่อนการประชุมมาหลายครั้ง หากมาประชุมครบทุกคนก็จะสามารถสรุปเคาะอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 ได้อย่างแน่นอน ซึ่งหลังได้ข้อสรุปแล้วจะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาเห็นชอบ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาบังคับใช้ต่อไป
ส่วนที่มีข่าวจะปรับขึ้นค่าจ้าง 15 บาท เป็นเพียงกระแสข่าว อาจมากหรือน้อยกว่าก็ได้ ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณา คณะกรรมการค่าจ้างตามระบบไตรภาคี ที่จะพิจารณาจากข้อมูลที่อนุกรรมการค่าจ้างแต่ละจังหวัดเสนอตัวเลขเข้ามา
ส่วนจะมีการปรับขึ้นเท่าใดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการที่ดูจากหลายปัจจัยประกอบ อาทิ ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิต ความสามารถในการผลิต ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ รวมถึงศึกษาเทียบเคียงกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งหลังจากมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300บาทเท่ากันทั่วประเทศ ไม่มีการปรับขึ้นมา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2557-2559 เพิ่งจะปรับ ในปีที่ผ่านมา สูงสุด 310 บาท ส่วนในปี 2561 จะมีการปรับขึ้นอย่างแน่นอน แต่ต้องทำให้เกิดความสมดุลทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง
ด้านนายอาทิตย์ อิสโม กรรมการค่าจ้าง ฝ่ายรัฐบาล เปิดเผยว่า ส่วนตัวขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจังหวัดไหนขึ้นอัตราเท่าใดบ้าง เพราะยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของอนุกรรมการฝ่ายวิชาการที่กลับไปทบทวนว่าแต่ละจังหวัดที่เสนอขอปรับขึ้นในอัตราเดิมระหว่าง 2-15 บาทนั้น มีความเหมาะสมหรือไม่เพราะจากข้อมูลที่แต่ละจังหวัดส่งมา พบว่าบางจังหวัดที่เป็นจังหวัดเล็ก ขอขึ้นสูงเกินความเป็นจริง ขณะที่บางจังหวัดกลับไม่ขอขึ้น ดังนั้นจึงต้องกลับมาคำนวณเข้าสูตรใหม่ว่าอัตราเหมาะสมควรอยู่ที่ตรงไหน ซึ่งตัวเลขยังไม่เปิดเผย แต่คาดไม่น่าจะอยู่ที่ 2-15 บาทตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด ซึ่งคณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการจะเปิดตัวเลขพร้อมกันในที่ประชุม วันที่ 10 มกราคม เวลา 09.30 น.นี้ เพื่อป้องกันการล็อบบี้จากแต่ละฝ่าย
ส่วนประเด็นที่ว่า 8 จังหวัด ได้แก่สิงห์บุรี ,ชุมพร ,นครศรีธรรมราช ,ตรัง ,ระนอง ,นราธิวาส ,ปัตตานี และยะลา ที่ไม่ได้ขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมาจะถูกปรับขึ้นหรือไม่นั้น อาจมีโอกาสถูกปรับขึ้น แต่เท่าใดยังไม่ทราบ อย่างไรก็ตามในการพิจารณารอบนี้นอกจากจำนวนที่จะปรับแล้ว การปรับขึ้นแบบไหน เป็นรายจังหวัด หรือแบบเท่ากันทั้งประเทศ ตามที่ฝ่ายลูกจ้างเรียกร้อง ก็เป็นประเด็นที่บอร์ดค่าจ้างจะต้องพิจารณาด้วย เพราะหากการปรับขึ้นจำนวนเงินไม่ต่างกันมาก อาจมีแนวโน้มปรับขึ้นเท่ากันทั้งประเทศ
ขณะที่นายประจวบ พิกุล คณะกรรมการค่าจ้าง ตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่าปัญหาการปรับค่าจ้างขั้นต่ำล่าช้ามาจากบอร์ดค่าจ้างเข้าประชุมไม่ครบ จึงเคาะค่าจ้างใหม่ไม่ได้ แต่ปัญหาไม่ได้มาจากตัวแทนบอร์ดฝ่ายรัฐ และฝ่ายลูกจ้าง เพราะพร้อมประชุมทุกครั้ง แต่มาจากฝ่ายนายจ้างที่เป็นฝ่ายเสียประโยชน์จากการปรับค่าจ้างสูงขึ้น ไม่เข้าประชุมครบ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดค่าจ้าง จึงต้องคุยกับตัวแทนบอร์ดฝ่ายนายจ้างให้ชัดเจน เพื่อจะได้ไม่ต้องเลื่อนประชุมอีก
อย่างไรก็ตามในช่วงบ่ายได้รับรายงานว่าปลัดกระทรวงแรงงาน ได้เรียกคณะกรรมการค่าจ้าง เฉพาะตัวแทนฝ่ายนายจ้าง อาทิ นายปัณณพงศ์ อิทธิ์อรรถนนท์ นายอรรถยุทธ ลียะวณิช เข้าพูดคุยที่ห้องทำงาน ชั้น 6
เมื่อสอบถามนายอรรถยุทธยอมรับว่ามาพบเรื่องส่วนตัว ไม่ได้มีการล็อบบี้ เพราะที่ผ่านมาฝ่ายนายจ้างเข่าร่วมประชุมทุกครั้ง แม้ไม่ครบ 5 คน แต่มีฝ่ายนายจ้าง 2 คน ก็สามารถประชุมได้ สาเหตุที่เลื่อนการประชุม เพราะบอร์ดฝ่ายลูกจ้างไม่เข้าใจการคิดคำนวณสูตรค่าจ้าง และขอให้หาข้อมูลเพิ่มเติม วันที่10 ม.ค.นี้น่าจะได้ข้อยุติ เพราะข้อมูลแต่ละจังหวัดส่งมาหมด ผ่านกระบวนการสู่อนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองแล้ว ต้องมาดูว่ามีเหตุมีผลอย่างไร จะปรับหรือไม่ปรับ เท่าใด แต่หากปรับสูงสุด 15 บาท
คงรับไม่ได้ เพราะผลพวงจากปรับ 300 บาท มานาน 5-6 ปี ก็แทบไม่ไหว แต่หากจะปรับตามสูตรคำนวณ ตามหลักวิทยาศาสตร์ ก็ยอมรับได้ .-สำนักข่าวไทย