กรุงเทพฯ 3 ม.ค.-กกพ.คาดการแข่งขันรับซื้อไฟฟ้าวีเอสพีพี อีก 269 เมกะวัตต์ รุนแรงหลัง แข่งราคาเอสพีพีไฮบิด ตัดราคาถึงร้อยละ 99 ส่วนการรับซื้อโครงการใหม่อื่นๆ ต้องรอแผนพีดีพี ส่วนเม็ดเงินลงทุนพลังงานทดแทน ภาพรวมปีนี้คาดแตะแสนล้านบาท
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ.เตรียมออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจาก โครงการสัญญาผลิตไฟฟ้า VSPP SEMI-FIRM จากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (วีเอสพีพี ) จำนวน 269 เมกะวัตต์ ในช่วงต้นปีนี้ ในขณะนี้รอเพียงให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.)ตรวจสอบความพร้อมของสายส่งไฟฟ้าทั่วประเทศ ให้เสร็จก่อน คาดว่า จะได้ความชัดเจนในเร็วๆนี้ โดยอัตรารับซื้อไฟฟ้าเป้นรูปแบบFiT ที่เป็นการรับซื้อเฉพาะโรงไฟฟ้าใหม่ ประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ในราคา 4.24 บาทต่อหน่วย,ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) ราคา 3.76 บาทต่อหน่วย และก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) ราคา 5.34 บาทต่อหน่วย และสามารถใช้ระบบEnergy Storage ร่วมได้ จะมีกลุ่มโรงงานน้ำมันปาล์มในภาคใต้ เข้าร่วมประมูลแข่งขันจำนวนมาก เพราะมีวัตถุดิบเหลือใช้ ทั้งจากทลายปาล์ม และกะลาปาล์ม ที่จัดทำระบบไบโอแก๊สแล้วแต่ยังไม่สามารถขายไฟฟ้าได้ ซึ่งกลุ่มนี้จะมีต้นทุนผลิตไฟฟ้าจากไบโอแก๊สต่ำมาก
“วีเอสพีพี เซมิ-เฟิร์ม คาดว่าจะได้รับความสนใจในการแข่งขันเป็นจำนวนมาก หลังจากที่เปิดการรับซื้อไฟฟ้าแบบเอสพีพีไฮบิด 300 เมกะวัตต์ มีผู้แข่งขันและราคา ที่ดีมาก ต่ำสุดถึงร้อยละ 99.9 โดยราคาต่ำสุด 1.85 บาท/หน่วย สูงสุด 3 บาทเศษ/หน่วย เงื่อนไขประมูลก็มีความยืดหยุ่น เช่น กำหนดให้ช่วงฤดูร้อนประมาณ 4-5 เดือน ต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า 100% ตามสัญญาเฟิร์ม เพื่อช่วยลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค)ของประเทศ และช่วงระยะเวลาที่เหลือที่มีการใช้ไฟฟ้าน้อย (ออฟ-พีค) จะเป็นการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าไม่เกินร้อยละ 65 ตามสัญญาผลิตไฟฟ้าไม่เสถียร (non-firm)”นายวีระพลกล่าว
นายวีระพล กล่าวว่า โครงการรับซื้อไฟฟ้าที่จะเปิดต่อไปในปีนี้ ยังต้องรอความชัดเจนจากภาครัฐ ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ(พีดีพี)ใหม่ที่คาดว่าจะมีความชัดเจนหลังเดือน มี.ค.นี้ รวมถึงโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป)เสรีด้วย
กกพ.ประเมินด้วยว่า การลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มีกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์(SCOD) ช่วงปี 2561-2562 จะเกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท เช่น โครงการวีเอสพีพี เซมิ-เฟิร์ม กำหนดSCOD ภายในปี2562 ใช้เงินลงทุนราว 50 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ หรือ มีเม็ดเงินสะพัดรวมประมาณ 13,450 ล้านบาท ,โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลม ที่อยู่ระหว่างทยอยSCOD ภายในปี2561-2562 อีก 951 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนราว 80 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ หรือ มีเม็ดเงินสะพัดรวมประมาณ 76,080 ล้านบาท และ โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน(Quick Win) จำนวน 78 เมกะวัตต์ กำหนด SCOD ภายในปี2562 ใช้เงินลงทุนราว 50-70 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ หรือ มีเม็ดเงินสะพัดรวมประมาณ 3,900-5,460 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรี ที่คาดว่าจะเปิดโครงการในปีนี้
สำหรับปี 2560 มีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบแล้ว 7,529 เมกะวัตต์ จากผู้ประกอบการ 7,083 ราย แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 189 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าชีวมวล 3,202 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าชีวภาพ 377 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 25 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังลม 614 เมกะวัตต์และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 3,025 เมกะวัตต์-สำนักข่าวไทย