พิษณุโลก 25 ธ.ค. – ที่ประชุมยุทธศาสตร์ภาคเหนือรับข้อเสนอสร้างประตูระบายน้ำลุ่มน้ำยม เร่งรัดสร้างมอเตอร์เวย์เชียงใหม่ -เชียงราย เสนอ ครม.มี.ค.61 สร้างรถไฟทางคู่ ลพบุรี-เชียงใหม่ และเชียงใหม-เชียงของ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ประชุมยุทธศาสตร์ภาคเหนือร่วมกับผู้ราชการจังหวัด ผู้แทนภาคเอกชน ผู้บริหารท้องถิ่นภาคเหนือ สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาเกษตรกร สมาคมการท่องเที่ยว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมรับข้อเสนอสร้างประตูระบายน้ำลุ่มน้ำยม 4 ประตู วงเงินลงทุน 1,900 ล้านบาท เพื่อใช้ระบายน้ำลงพื้นที่แก้มลิง การผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำ ในโครงการ กก- อิง- น่าน การผันน้ำเลี่ยงพื้นที่เศรษฐกิจในจังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพื่อศึกษางบประมาณเพิ่ม เน้นกระจายแบบโครงการขนาดเล็กอีก 500 ล้านบาท มอบหมายให้ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงคมนาคม จัดลำดับความสำคัญแผนการลงทุนป้องกันปัญหาน้ำท่วม ปัญหาภัยแล้งลุ่มน้ำยมซ้ำซาก รวมถึงการส่งเสริมด้านเกษตรแปรรูปนำร่องผัก ผลไม้ กล้วยหอม กระเจี้ยบ ขิง มะม่วง ข้าว ไผ่ เพื่อดูแลรูปแบบประชารัฐร่วมกับหลายหน่วยงานด้านการตลาดอย่างครบวงจร
นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า การพัฒนาคมนาคมทั้งทางบกและอากาศ ที่ประชุมเห็นชอบแผนสร้างรถไฟรางเบาเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนแบบ PPP เร่งจัดทำรายละเอียดเสนอคณะกรรมการ PPP เพื่อพิจาณาเป็บแบบใต้ดินหรือลอยฟ้า เพื่อสรุปวงเงินลงทุนและรูปแบบการก่อสร้าง นอกจากนี้ ยังเตรียมเสนอ ครม.พิจารณาเดือนมีนาคม 2561 โครงการรถไฟทางคู่เส้นทางลพบุรี-เชียงใหม่ และเส้นทางเชียงใหม-เชียงของ และยังมีข้อเสนอสร้างเส้นทางรถไฟเส้นใหม่ จาก อ.ลำนารายณ์ จ.ลพบรี-เพชรบูรณ์ เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายรถไฟทางคู่ภาคเหนือและรถไฟความเร็วสูง รวมทั้งแผนสร้างมอเตอร์เวย์เชียงใหม่ -เชียงราย เร่งรัดแผนเริ่มก่อสร้างให้เร็วกว่าปี 2565
สำหรับแผนสร้างรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ญี่ปุ่นศึกษาแผนลงทุนวงเงิน 400,000 ล้านบาท แบ่งเป็นช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก วงเงิน 200,000 ล้านบาท ,กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ 400,000 ล้านบาท ยอมรับว่าเป็นวงเงินลงทุนสูงมาก จึงต้องศึกษาแผนลงทุนให้เกิดความคุ้มค่าสามารถเชื่อมต่อไปเส้นทางอื่นได้เหมือนกับเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย สามารถเชื่อมโยงไปยัง สปป.ลาว ในส่วนของการพัฒนาสนามบินนานาชาติเชียงใหม่แห่งที่ 2 หวังรองรับผู้โดยสาร จากปัจจุบัน 9 ล้านคน เพิ่มเป็น 35 ล้านคนในปี 2573 และยังต้องเดินหน้าปรับปรุงรันเวย์สนามบินลำปาง แพร่ น่าน และพัฒนาสนามบินพิษณุโลกเพิ่ม การหารือครั้งนี้จึงมีทั้งด้านวงเงินงบประมาณและการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อเสนอ ครม.พิจารณาเมื่อสรุปแผนชัดเจน.-สำนักข่าวไทย