กรุงเทพฯ 5 ธ.ค. – มีข้อมูลจากผู้อำนวยการสถาบันราชประชาสมาสัย เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคเรื้อนในไทยว่า พบผู้ป่วยแค่ปีละ 160 คน
นพ.อาจินต์ ชลพันธ์ ผอ.สถาบันราชประชาสมาสัย กล่าวถึงสถานการณ์โรคเรื้อนในปัจจุบันว่า พบผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ไม่มากนัก เฉลี่ยปีละ 160 คน มีผู้ป่วยสะสมรวม 400 คน จากความพยายามในการควบคุมโรคตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทำให้สถานการณ์ของโรคเรื้อนคงที่ จากเดิมมีนิคมโรคเรื้อน หรือชุมชนผู้ป่วยโรคเรื้อน มากถึง 13 แห่ง ปัจจุบันเหลือแค่ 3 แห่ง ได้แก่ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ จ.จันทบุรี และ จ.เชียงราย
โรคเรื้อน จัดเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง โดยมีอาการเด่นชัด มีลักษณะเป็นผื่นวงขาว คล้ายลมพิษ แต่มีอาการชาและไม่คัน โดยเชื้อโรคเรื้อนจะทำลายเส้นประสาทส่วนปลาย เกิดการอักเสบของเส้นประสาท ทำให้กล้ามเนื้อที่ควบคุมด้วยเส้นประสาทเส้นนั้นฝ่อลีบไป มีผลให้มือเท้าหงิก และกุดได้ในระยะท้ายของโรค ทั้งนี้ หากรีบรักษาก็จะไม่เกิดภาวะพิการได้ในภายหลัง แต่หากปล่อยทิ้งนานเป็นเดือนหรือเป็นปี โรคลุกลาม ลักษณะผื่นจะมีสีแดงก่ำ ผิวเป็นมัน ขนคิ้วร่วง จมูกยุบ ใบหูหนาและบิดผิดรูป แม้จะหายจากโรคได้ แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขความพิการได้
ส่วนกรณีที่พบปัญหาลูกหลานของผู้ป่วยโรคเรื้อนไม่ได้สัญชาติ ซึ่งกำลังเป็นข่าวมีการร้องเรียนนั้น นพ.อาจินต์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องแยกให้ขาดจากกัน ระหว่างการพิสูจน์สัญชาติกับการป่วยโรคเรื้อน โดยหากเป็นคนไทยแต่กำเนิด ก็มีหลักฐานพิสูจน์ได้อย่างชัดเจน ส่วนกรณีที่มีการเคลื่อนย้ายประชากรด้านแรงงาน อาจทำให้โรคเรื้อนกลับมาอีกหรือไม่ ก็เป็นธรรมดา จึงต้องมีการเฝ้าระวัง และมีการตรวจโรคในกลุ่มแรงงาน. – สำนักข่าวไทย