กรุงเทพฯ 5 ธ.ค. – นายกสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแนะรัฐบาลตั้งองค์กรกลางดูแลการออมให้ประชาชนทุกคนมีเงินออมเพียงพอและใช้จ่ายยามเกษียณอายุ หลังพบไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น พร้อมเร่งตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ดึงบริษัทขนาดใหญ่ที่มีลูกจ้าง 100 คนเข้ามาเป็นสมาชิกกองทุนก่อน เพื่อให้แรงงานนอกระบบมีเงินออมโดยเร็ว
นายพิสิฐ ลี้อาธรรม นายกสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เปิดเผยว่า ปัจจุบันประชากรไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้นจะส่งผลกระทบต่อภาระงบประมาณและเงินภาษีของรัฐบาลในการดูแลผู้สูงอายุ ขณะที่การออมเพื่อวัยเกษียณของแต่ละหน่วยงานยังไม่ได้บูรณาการร่วมกัน จึงเสนอให้มีการตั้งหน่วยงานเฉพาะขึ้นมาดูแลการออมเพื่อวัยเกษียณเหมือนกับการตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ทำหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับการประกันภัย ประกันชีวิต และประกันวินาศภัยทั้งระบบ เพื่อสนับสนุนให้การออมเพื่อวัยเกษียณมีประสิทธิภาพประชาชนทุกคนมีเงินออมเพียงพอและใช้จ่ายยามเกษียณอายุ
“ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ทำหน้าที่ดูแลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตั้งแต่ปี 2542 และดูแลบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ต่าง ๆ ทำให้ ก.ล.ต.มีหน้าที่ส่งเสริมการออมไปโดยปริยาย แต่หน้าที่หลักของ ก.ล.ต. คือ การดูแลซื้อขายหลักทรัพย์ ดังนั้น จึงเห็นว่าควรจะมีหน่วยงานกลางเข้ามาทำหน้าที่ส่งเสริมการออมให้มีความยั่งยืนและไม่ให้เป็นภาระหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง” นายพิสิฐ กล่าว
นายพิสิฐ์ ยืนยันว่า รัฐบาลควรตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติภาคบังคับ (กบช.) โดยเร็ว เพราะหากล่าช้าก็ยิ่งทำแรงงานที่อยู่นอกระบบหมดโอกาสออมเพื่อเกษียณอายุ เพราะหากออมเร็วขึ้นก็จะมีเม็ดเงินสะสมมากขึ้น ซึ่งคาดหวังว่าร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติจะบังคับใช้ให้ได้ภายในปี 2561 และจะเริ่มส่งเงินสะสมใน กบช.ปี 2562 โดยจะเริ่มจากบริษัทที่มีลูกจ้าง 100 คนขึ้นไปก่อน เพราะยอมรับว่าปีแรกอาจจะมีบริษัทที่มีความพร้อมเข้ามาเป็นสมาชิก กบช.ไม่มาก เพราะหลายบริษัทอาจมองว่า กบช.เป็นภาระ จึงต้องเริ่มบริษัทขนาดใหญ่ก่อน แต่เชื่อว่าหากบริษัทเข้าร่วม กบช.จะช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้พนักงานในการดูแลความยั่งยืน และทำให้พนักงานลาออกน้อยลง เพราะมีการดูแลสวัสดิการพนักงาน ซึ่งการที่บริษัทต้องรับสมัครพนักงานใหม่แต่ละครั้งจะมีต้นทุนสูงขึ้นด้วย ขณะที่อัตราการส่งเงินเข้า กบช.จะเริ่มที่ร้อยละ 3 ของค่าจ้าง เป็นอัตราที่ไม่สูงมาก หากบริษัทที่ยังไม่พร้อมรับภาระก็จะสามารถส่งในอัตรานี้ได้
นายพิสิฐ ยอมรับว่าเมื่อมีการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติภาคบังคับปริมาณเงินออมใหม่ผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีอัตราการเติบโตที่ช้า จากปัจจุบันขนาดกองทุนอยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษา เพื่อไม่ให้มีผลกระทบหรือมีผลกระทบน้อยที่สุด .- สำนักข่าวไทย