กรุงเทพฯ 15 พ.ย.- ชาวพญาไท 8 ชุมชน ร้องผู้ตรวจฯ ประสาน กทม.- เขตพญาไท แก้ปัญหาปล่อยเอกชน สร้างตึกสูง ผิดกฎหมาย ชี้ทำคนพื้นที่เดือดร้อนหนัก เผยมีหมกเม็ดอนุมัติสร้างตึก 20 ชั้น ซ. พหลโยธิน 11 ทั้งที่ถนนซอยกว้างไม่ถึง 10 เมตร ส่อซ้ำรอยตึกสูงซอยร่วมฤดีที่ศาลปกครองสั่งรื้อถนน สุดทนตั้งคำถามเขต พอหรือยัง หรือต้องให้คนชุมชนย้ายออกแลกความเจริญ
นายนรฤทธิ์ โกมลารชุน ผู้แทนกลุ่มชมรมอนุรักษ์พญาไท และผู้ได้รับผลกระทบกว่า 10 ราย ซึ่งเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ใน 8 ชุมชนของพื้นที่พญาไท เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร และสำนักงานเขตพญาไท กรณีปล่อยปละละเลยให้มีการก่อสร้างอาคารสูง คอนโดมีเนียม ที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย และก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคที่ไม่มีคุณภาพ รวมถึงไม่มีการจัดการบริเวณที่ก่อสร้างให้เรียบร้อย ส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรและเกิดน้ำท่วมภายในชุมชน
นายนรฤทธิ์ กล่าวว่า เป็นคนพื้นที่อยู่มากว่า 70 ปี แต่ปัจจุบัน กทม. และเขตพญาไทกลับอนุมัติให้มีการก่อสร้างอาคารชุด โดยไม่คำนึงถึงกายภาพของพื้นที่ที่มีจำกัด ทำให้เกิดปัญหาในด้านต่าง ๆ ทั้งการจราจรติดขัด น้ำท่วมขัง มลภาวะทางเสียง ฝุ่น กลิ่น ซึ่งทางชุมชนได้เคยร้องเรียนไปยัง กทม. เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. ฝ่ายสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตพญาไท แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ปัญหาที่ตรงจุด ตรงกันข้ามกลับสร้างความเดือดร้อนให้ชุมชนมากขึ้น เนื่องจากไม่มีการรับฟังความเห็นของชุมชน
“อย่างมีกรณีหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นเหมือนคดีซ.ร่วมฤดี ที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้รื้อตึกสูง และชาวบ้านกำลังคิดที่จะฟ้องร้อง คือ การปล่อยให้มีตึกสูง 20 ชั้น ในซ.พหลโยธิน 11 และกทม.กำลังอนุมัติให้สร้างตึก 8 ชั้นเพิ่มอีก ซึ่ง กทม.อ้างว่าที่อนุมัติให้เพราะถนนซอยกว้าง 13 เมตร แต่เมื่อกรมที่ดินมารังวัดตามการร้องเรียนของชาวบ้านพบว่าขนาดถนนกว้างไม่ถึง 10 เมตร ที่กฎหมายกำหนดว่าจึงจะสามารถสร้างตึกสูงได้ ซึ่งทางเขตก็ไม่มีการประกาศผลการรังวัดให้ประชาชนทราบและไม่มีการยับยั้งการก่อสร้าง สะท้อนถึงความหย่อนยานในการควบคุมการบังคับใช้กฎหมาย ยังไม่รวมไปถึงการอนุญาตก่อสร้างตึกสูงในซอยอื่น ๆ ที่ก็มีการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมไม่ตรงความจริง ไม่มีการสอบถามความเห็นของคนในพื้นที่ หรือที่ก่อสร้างแล้วก็ละเลยไม่ควบคุมมลพิษทางเสียง กลิ่น จราจรตามซอยต่างๆ ที่ผู้พักอาศัยไม่สามารถเข้าหรือออกจากบ้านพักของตนเองได้สะดวกในชั่วโมงเร่งด่วน การปล่อยให้มีการจอดรถทั้งสองฝั่งถนนจนรถไม่สามารถขับสวนกันได้ ทั้งหมดเป็นปัญหามาจากความอ่อนแอของการควบคุมและการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงอยากให้ผู้ตรวจฯประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายให้ถูกต้อง ไม่บิดเบือน” นายนรฤทธิ์ กล่าว
ด้าน น.ส.ริรินดา พูนพิพัฒน์ ผู้พักอาศัยในซอยพหลโยธิน 8 หรือ ซ.สายสม กล่าวว่า บ้านของตนติดกับคอนโดดิเมโมเรีย ของบริษัท ดีเวล แกรนด์เอสเสท จำกัด ขณะก่อสร้างในปี 57 มีการขุดดินเพื่อทำที่จอดรถใต้อาคาร ทำให้ดินในพื้นที่รอบนอก รวมทั้งที่ดินที่ตั้งบ้านของตนเกิดการเคลื่อนตัวเข้าหาพื้นที่ก่อสร้าง และตัวบ้านทั้งผนัง และคาน เริ่มมีรอยร้าว ซึ่งหลังจากก่อสร้างผ่านไปเพียง 2 สัปดาห์ ก็ทำให้บ้านตนมีรอยร้าวทั้งหลัง อยู่อาศัยไม่ได้ โดยวิศวกรที่เข้ามาตรวจสอบพบว่าเสาเข็มของบ้านเคลื่อนออกจากศูนย์ ถึงจะซ่อมแซมก็จะเกิดความเสียหายขึ้นอีกในอนาคต ตนจึงต้องทุบบ้านทั้งหลังแล้วสร้างใหม่ ทั้งที่บ้านหลังดังกล่าวเป็นบ้านของครอบครัวที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2502 และตนผูกพันกับบ้านหลังดังกล่าว และยังมีบ้านอีกหลังในละแวกเดียวกันที่ได้รับผลกระทบ
น.ส.ริรินดา กล่าวว่า จากกรณีที่เกิดขึ้น ตนได้นำเรื่องฟ้องต่อศาลปกครอง และศาลแพ่ง ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองเพราะเห็นว่า การทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นเท็จ แต่ต่อมาโครงการได้มีการแก้ไขและศาลอนุญาตให้มีการก่อสร้างได้บางส่วนแต่ทางโครงการก็สร้างตึกจนเสร็จและปัจจุบันมีผู้เข้าพักเต็มพื้นที่หมดแล้วขณะที่ความเสียหายของตน โครงการก็ไม่ได้เยียวยา หรือได้รับความช่วยเหลือจากสำนักงานเขตเลยต้องไปฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งเอง โดยเรียกค่าเสียหายไป 30 ล้าน
อย่างไรก็ตามในพื้นที่พญาไท ทางชมรมฯ เห็นว่า ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ของรัฐ ไม่สามารถที่จะรองรับโครงการก่อสร้างอาคารสูงได้อีกแล้ว จึงอยากให้ทางกทม. และเขตพิจารณาว่า พอหรือยังที่อนุญาตให้มีการก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ได้อีก หรือต้องให้คนในชุมชนย้ายออกไปอยู่ข้างนอกเพื่อแลกกับความเจริญ.-สำนักข่าวไทย