ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ 12 พ.ย.- ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ย้ำ 6 คำถามนายกรัฐมนตรีเป็นการสื่อสารกับประชาชนโดยตรง ต้องการการแลกเปลี่ยนและรับฟังความเห็น ระบุ ยังไม่มีความเคลื่อนไหวเรื่องตั้งพรรคทหาร
นายปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กล่าวถึงการตั้งคำถาม 6 ข้อของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า ที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้ ส่วนใหญ่เป็นความเห็นของนักการเมือง ที่ตนเห็นว่าเป็นการส่งคำตอบเบื้องต้นมาให้นายกรัฐมนตรี แต่คำตอบจริง ๆ จะอยู่ที่ประชาชน ตนมองว่าการเมืองการปกครองในปัจจุบันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ต้องรับฟังเสียงของประชาชน โดยตรงเป็นระยะ และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกกับการตั้งคำถาม เพียงแต่คำถามที่รับฟังความเห็นอาจจะแตกต่างกันตามห้วงเวลาของโรดแมป ซึ่งขณะนี้กำลังเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของการเตรียมการทางการเมือง
ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การสื่อสารกับนายกรัฐมนตรีโดยตรงอย่างตรงไปตรงมา และมีตัวตนชัดเจนนั้นเป็นสิ่งสำคัญ และเป็นสิ่งที่ดีเพราะผู้นำในลักษณะเช่นนี้ต้องฟังเสียงของประชาชนจำนวนมาก ซึ่งก่อนหน้านี้มีคนแนะนำให้นายกรัฐมนตรีฟังเสียงของประชาชนให้มาก จึงกลายเป็นที่มาของคำถามนี้ ส่วนการโต้ตอบกันไปมาระหว่างนักการเมืองและผู้บริหารถือเป็นเรื่องปกติ และประชาชนคุ้นเคย แต่สิ่งที่สำคัญคือต้องการให้ประชาชนไปที่ศูนย์ดำรงธรรมและสื่อสารกับนายกรัฐมนตรีโดยตรง
นายปณิธาน กล่าวว่า นอกจากวิธีนี้แล้ว ก็ยังมีวิธีการสื่อสารกับนายกรัฐมนตรีทางอื่นด้วย เนื่องจากนายกรัฐมนตรีติดตามข่าวสารและใช้เทคโนโลยีด้านสื่อสารสมัยใหม่ตลอดเวลา ที่สำคัญที่สุดคือการสื่อสารให้นายกรัฐมนตรีได้รับทราบถึงความต้องการของประชาชนในการเข้าสู่การเลือกตั้ง เรื่องนี้มีการเตรียมการกันมาเป็นระยะแล้ว และขณะนี้อยู่ในช่วงสุดท้าย การรับฟังความคิดเห็นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ และเกิดข้อถกเถียงในหลายข้อที่ทำให้พบเห็นประเด็นใหม่ รวมทั้งข้อจำกัดและช่องว่างที่จะต้องดำเนินการเพิ่มเติม ซึ่งถือว่าเป็นบรรยากาศที่ดี ส่วนจะไปส่งผลต่อความรู้สึกใครนั้น เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับฟังกัน
ต่อข้อถามว่า หากนายกรัฐมนตรีหรือ คสช. จะไปสนับสนุนพรรคการเมืองใดนั้นถือว่าเป็นสิทธิ์ที่ถูกต้องหรือไม่ นายปณิธาน กล่าวว่า เรื่องนี้ยังคงเป็นคำถาม ซึ่งการรวบรวมคำตอบยังไม่แล้วเสร็จและเรื่องนี้ยังเป็นข้อถูกเถียงกันอยู่ เชื่อว่านายกรัฐมนตรีจะรับฟังความคิดเห็นด้วยความตั้งใจ
“เราไม่ค่อยเห็นการสื่อสารในลักษณะที่มีผลสูงแบบนี้ เพราะในอดีตมีช่องทางอื่นๆ แต่ผมคิดว่าในขณะนี้ การสื่อสารโดยตรงผ่านช่องทางการสื่อสารสมัยใหม่เป็นสิ่งที่ดี ส่วนคำตอบจะเป็นอย่างไร ก็ต้องนำมารับฟังและไปดูเรื่องของกฎหมายอื่น ๆต่อไป ซึ่งขณะนี้อยู่ในชั้นของการรวบรวมความคิด และจะทำให้เกิดบรรยากาศในการรับฟัง การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จึงขอให้มั่นใจว่าการสื่อสารแบบนี้อาจเป็นประโยชน์” นายปณิธาน กล่าว
ส่วนการตั้งคำถามของนายกรัฐมนตรีจะเป็นเหมือนการโยนหินถามทางหรือต้องการหาแรงสนับสนุนรัฐบาล คสช.เพื่อให้อยู่ต่อหรือไม่นั้น นายปณิธาน กล่าวว่า ถ้าจะคิดแบบนั้น เรื่องนี้มีวิธีการอื่น ทั้งวิธีการสำรวจ วิธีการลงพื้นที่และรัฐบาลก็มีหน่วยงานที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนอยู่แล้ว โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทยที่ใกล้ชิดกับประชาชน คงไม่จำเป็นจะต้องทำอะไรเช่นนั้น เพียงแต่ว่าการดำเนินการในลักษณะการสื่อสารโดยตรงเพื่อให้ประชาชนเข้าใจว่านายกรัฐมนตรีสนใจทุกเรื่อง อีกทั้งคำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่ตรงใจประชาชน และประชาชนก็ต้องการที่จะตอบ แต่นักการเมืองและผู้รู้ก็อาจจะมีคำตอบได้เร็วกว่า ซึ่งท้ายที่สุดคำตอบของประชาชนอาจทำให้ทุกคนแปลกใจก็ได้
สำหรับความเป็นไปได้ในการตั้งพรรคทหารนั้น นายปณิธาน กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ คสช.และ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ได้ให้คำตอบเบื้องต้นตามที่สื่อมวลชนได้นำเสนอแล้ว คำตอบนั้นก็ยังเป็นคำตอบเดิมอยู่ในเรื่องเกี่ยวกับการตั้งพรรคที่ขณะนี้ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ.-สำนักข่าวไทย