กรุงเทพฯ 10 พ.ย. – สอน.เดินหน้าแก้ไขกฎหมายลูก เตรียมความพร้อมลอยตัวราคาน้ำตาลในประเทศภายในฤดูการผลิต 60/61 ยืนยันคนไทยมีน้ำตาลพอบริโภคแน่ ชาวไร่ยังได้รับการดูแล
นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) รักษาราชการแทนเลขาธิการ กอน. คาดว่า ประเทศไทยจะปล่อยลอยตัวราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศให้ปรับขึ้นลงตามกลไกตลาดเสรีที่สะท้อนราคาตลาดโลกภายในฤดูการผลิตปี 2560/2561 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) อยู่ระหว่างดำเนินการส่งร่างแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องประมาณ 4-5 ฉบับที่ออกภายใต้พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ไปให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา หากคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ จึงจะสามารถปล่อยลอยตัวราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศได้ โดยราคาน้ำตาลหลังลอยตัวตามกลไกตลาดเสรีราคาจะปรับเปลี่ยนตามกลไกตลาด หากราคาน้ำตาลตลาดโลกต่ำลงราคาน้ำตาลจำหน่ายในประเทศก็จะจำหน่ายในราคาที่ต่ำลงเช่นกัน และหากช่วงที่มีการปล่อยลอยตัวราคาน้ำตาลระดับราคาน้ำตาลในตลาดโลกยังคงทรงตัวอยู่ในระดับเท่า ๆ กับปัจจุบัน เชื่อว่าเมื่อลอยตัวระดับราคาน้ำตาลในประเทศไทยน่าจะถูกลง
สำหรับราคาน้ำตาลทรายในประเทศ จะสะท้อนราคาตามกลไกตลาดการค้าเสรี โดยจะต้องรอการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม ยังจะมีกลไกกำกับดูแลราคาน้ำตาลทรายในประเทศให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายทั้งเกษตรกรชาวไร่อ้อย ผู้ผลิตน้ำตาล และผู้บริโภค
ปัจจุบันไทยผลิตน้ำตาลทรายปีละประมาณ 9-10 ล้านตัน ส่วนใหญ่ส่งออกไปประเทศในเอเชีย เช่น อินโดนีเซีย โดยมีปริมาณส่งออกมากที่สุดเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับการส่งออกไปประเทศอื่น โดยมีการนำเข้าถึงปีละประมาณ 2 ล้านตันจากยอดส่งออกน้ำตาลของประเทศไทยแต่ละปีรวมทั้งหมดประมาณ 7 ล้านตัน ขณะที่การบริโภคน้ำตาลภายในประเทศอยู่ที่ปีละประมาณ 2.5-2.6 ล้านตัน ส่วนประเทศอื่น ได้แก่ เกาหลี ประมาณ 1 ล้านตัน จีน และญี่ปุ่น รวมถึงส่งออกไปกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านรอบ ๆ ไทยด้วย
สอน.ยืนยันว่าน้ำตาลทรายเพื่อการบริโภคในประเทศ ทั้งในส่วนของประชาชนและภาคผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารจะมีอย่างเพียงพอ เพราะกำหนดให้โรงงานผลิตน้ำตาลทรายจะต้องสำรองการผลิต 1 เดือน หรือประมาณเดือนละ 2.5 ล้านกระสอบ หรือมีน้ำตาลสำรองเดือนละ 250,000 ตัน จากยอดบริโภคภายในประเทศปีละ 2.5-2.6 ล้านตัน ระบบนี้นับเป็นการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่น้ำตาลผลิตได้จะจัดสรรตามระบบโควตาน้ำตาล ก. โควตา ข.และโควตา ค. ซึ่งถูกยกเลิกเปลี่ยนมาเป็นระบบบัฟเฟอร์สตอกสำรองน้ำตาลไว้ใช้ภายในประเทศ ซึ่งเป็นไปในลักษณะเดียวกันกับที่หลายประเทศใช้ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นคงในการมีน้ำตาลไว้บริโภคภายในประเทศอย่างเพียงพอ
ด้านชาวไร่อ้อยมั่นใจได้ว่าจะยังคงได้รับการดูแลต่อไป โดยชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลจะตกลงกันเพื่อดำเนินการจัดเก็บเงินรายได้จากการจำหน่ายน้ำตาลทราย และส่งเข้ากองทุนอ้อยฯ สะสมไว้ เพื่อสำรองไว้นำมาใช้ช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในหลายรูปแบบต่อไป จะไม่อยู่ในรูปแบบการจ่ายเงินเพิ่มค่าอ้อยแต่ละฤดูการผลิตอีกต่อไป สำหรับสถานะกองทุนแม้จะยังมีหนี้สินเดิมอยู่ แต่ก็มีสินทรัพย์มากกว่า.-สำนักข่าวไทย