กรุงเทพฯ 8 พ.ย.-กฟน.ร่วมภาคีนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน
ถนนพิษณุโลก เชื่อมต่อโครงการสายไฟฟ้าใต้ดินใจกลางเมือง
นายเทพศักดิ์ ฐิตะรักษา
ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย เช่น สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง
กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) บริษัท ทีโอที จำกัด
(มหาชน) กรุงเทพมหานคร และ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินบนถนนพิษณุโลก
ถนนนครสวรรค์ และถนนเพชรบุรี
เพื่อเชื่อมต่อโครงการสายไฟฟ้าใต้ดินในพื้นที่ใจกลางกรุงเทพมหานคร ณ
ราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
โดยโครงการนี้ ได้ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลด้วยการดำเนินการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินมาอย่างต่อเนื่อง
และในครั้งนี้ได้ดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่ ถนนพิษณุโลก (แยกพาณิชยการ ถึง
แยกยมราช) ถนนนครสวรรค์ (แยกนางเลิ้ง ถึง แยกเทวกรรม) และถนนเพชรบุรี (แยกยมราช
ถึง แยกอุรุพงษ์) รวมระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร ตั้งเป้าหมายแล้วเสร็จในเดือน
ธันวาคม 2560 ซึ่งจะเชื่อมต่อโครงการปทุมวัน จิตรลดา พญาไท โครงการราชวิถี
โครงการสุขุมวิท และโครงการพหลโยธินที่เสร็จสิ้นไปก่อนหน้านี้ รวมเป็นระยะทาง 43.5
กิโลเมตร
ในด้านวิธีการก่อสร้างเพื่อนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินครั้งนี้
กฟน. ได้ใช้วิธีการขุดเปิด – ฝังกลบ ทางเท้า (Open
Cut) สำหรับการนำสายไฟฟ้าแรงต่ำขนาด 230 / 400 โวลต์
และวิธีการดึงท่อลอดถนน (Horizontal Directional Drilling หรือ
HDD) สำหรับการนำสายไฟฟ้าแรงสูงขนาด 12,000 / 24,000 โวลต์
ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย
สายไฟฟ้าใต้ดินใช้วัสดุฉนวนหุ้มกันน้ำและกันไฟฟ้ารั่ว ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบแม้จะเกิดน้ำท่วมขัง
ในส่วนของสภาพพื้นที่ขุดเจาะจะมีการปรับสภาพพื้นผิวทางเท้าหลังจากการก่อสร้างสำเร็จ
เป็นไปตามมาตรฐาน และข้อกำหนดของกรุงเทพมหานคร
เพื่อความปลอดภัยในการใช้พื้นที่สาธารณะของประชาชน และทัศนียภาพที่สวยงาม
นอกจากนี้ กฟน. ยังได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้กับประชาชนได้รับทราบข้อมูลของโครงการฯ
พร้อมรับฟังปัญหาและนำไปแก้ไขเพื่อลดผลกระทบระหว่างการดำเนินการ
ทั้งนี้
โครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของ กฟน.
ได้ดำเนินการรวมระยะทาง 214.6 กิโลเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2564
โดยแบ่งเป็นโครงการที่อยู่ในแผนรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน 127.3 กิโลเมตร
คิดเป็นร้อยละ 59.3 โครงการที่ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ 43.5 กิโลเมตร
คิดเป็นร้อยละ 20.3 และโครงการที่อยู่ระหว่างกำลังดำเนินการ 43.8 กิโลเมตร
คิดเป็นร้อยละ 20.4 -สำนักข่าวไทย