กรุงเทพฯ 7
พ.ย.- ประธาน กกพ.ระบุแนวโน้มค่าไฟฟ้างวดใหม่ ไม่เปลี่ยนแปลง เตือนรอบถัดไปขยับขึ้นแน่นอน
ส่วนแผนพีดีพีใหม่ คาดเสร็จกลางปีหน้า ด้านเวทีสัมมนาระบบไฟฟ้ายุคเทคโนโลยีใหม่
ชี้ อนาคตโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่มืดมน โดยโรงเล็กผลิตเองใช้เองและพลังงานทดแทนจะมีบทบาทมากขึ้น
นายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย
ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ. ) กล่าวว่า พรุ่งนี้ (8 พ.ย. ) คณะกรรมกรรมการ กกพ.จะพิจารณาค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ
หรือ FT สำหรับการเรียกเก็บในงวดมกราคม
– เมษายน 2561 มีแนวโน้มจะไม่ปรับราคา
เพราะยังมีวงเงินลงทุนส่วนที่ไม่เป็นไปตามแผนงาน 3 การไฟฟ้า ที่จะนำมาดูแลได้
และไม่ต้องการให้ราคาผันผวนจนกระทบต่อผู้ประกอบการมากเกินไป อย่างไรก็ตาม
สิ่งที่น่ากังวล คือ ต้นทุนราคาน้ำมันที่ขยับขึ้นจะส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติปรับขึ้นตาม
และอาจทำให้งวดถัดไป (พ.ค.-ส.ค.2561 ) ขยับสูงขึ้นมาก ดังนั้น ในวันพรุ่งนี้
จึงต้องดูปัจจัยทั้งหมด แล้ว คณะกรรมการจะตัดสินอีกครั้งว่า จะขยับราคาหรือไม่
“ขณะนี้มีพลังงานทดแทน
บางส่วนเข้าไม่ตามแผน ก็ทำให้ภาระต้นทุนเอฟทีงวดใหม่ลดลง ส่วนราคาน้ำมันที่เริ่มขยับขึ้นยอมรับว่าทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นบ้าง
แต่เงินบาทที่ผ่านมาแข็งค่า ก็มีผลต่อต้นทุนต่ำลง
ซึ่งก็คาดว่าน่าจะตรึงราคาเอฟทีงวดใหม่ได้ จากงวดนี้ อยู่ที่ติดลบ15.90 สตางค์ต่อหน่วย
ที่ส่งผลให้ค่าไฟ้ฟ้าเฉลี่ยเรียกเก็บรวมค่าไฟฟ้าฐานอยู่ที่ 3.5966
บาทต่อหน่วย “นายพรเทพ กล่าว
นายพรเทพ กล่าวว่า
ค่าไฟฟ้าตามแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว20 ปี (พีดีพี ) ฉบับใหม่ จะเป็นอย่างไรนั้น
คงจะต้องดูแผนงานที่กระทรวงพลังงานกำลังดำเนินการ เท่าที่ทราบ
จะมีการจัดทำแยกความต้องการใช้ไฟฟ้าเป็นรายภาค เพื่อให้ทำแผนให้เน้นสนองตอบความต้องการเป็นรายภาครวมทั้งให้เน้นเรื่องการพยากรณ์ที่มีความคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด
นายไกรสีห์ กรรณสูต กรรมการ กกพ. กล่าวในงานEGAT
Energy Forum 2017 ว่า
ตามแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว20 ปี (พีดีพี ) ฉบับปัจจุบัน ในปี 2579 ค่าไฟฟ้า
จะขยับขึ้นเป็นประมาณ 5 บาท/หน่วย จากปัจจุบันประมาณ 3.60 บาท/หน่วย อย่างไรก็ตาม
แผนใหม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจาก Disruptive
Technology หรือเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ
ในธุรกิจผลิตไฟฟ้าเกิดขึ้น รองรับการใช้พลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์
ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ระบบสมาร์ทกริด
ทำให้เอกชนสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เอง (ไอพีเอส ) มากขึ้นเรื่อยๆ
ในอนาคตโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ อาจไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นน้อย
หลังจากที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ของกลุ่มกัลฟ์ 5,000 เมกะวัตต์ เกิดขึ้น จากเทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้น ดังนั้น โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ก็จะกลายเป็นโรงไฟฟ้าสำรอง
หรือ แบล็คอัพ เพื่อให้ระบบ มีความมั่นคง ซึ่งเป็นส่วนที่
กฟผ.จะต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร
รองผู้ว่าการพัฒนาธุรกิจ กฟผ. กล่าวว่า
กฟผ.ปรับตัว พัฒนานวัตกรรมรับการเปลี่ยนแปลง และยังพร้อมลงทุนพลังงานทดแทน 2,000
เมกะวัตต์ ซึ่งต้องดูว่า แผน พีดีพีที่ปรับใหม่คาดว่าจะเสร็จกลางปี 2561 นั้น
จะเห็นชอบให้ลงทุนหรือไม่ โดยในส่วนของโรงไฟฟ้าภาคเอกชนที่เกิดใหม่
ก็คาดว่าจะช่วยให้
กฟผ.มีรายได้จากการให้บริการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้ามากขึ้นจากปัจจุบันมีราว 3-4
พันล้านบาท
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)
กล่าวว่า จากเทคโนโลยีพลังงานที่เปลี่ยนแปลงจะทำให้ กฟผ.ต้องปรับตัว (Transform) อย่างหนัก ใน 3-4 ปีข้างหน้า ทั้งด้านพัฒนาเทคโนโลยี
การรองรับนโยบาย 4.0 และการมีปฏิสัมพันธ์ชมชุน ซึ่ง
กระทรวงพลังงานได้มอบหมายให้ กฟผ.ดำเนินการโครงการความร่วมมือลดใช้ไฟฟ้า (Demand Respond ;DR) 350
เมกะวัตต์ ใน 3 ปีข้างหน้า การพยากรณ์เรื่องลม แสงแดด และน้ำ เพื่อนำมาประยุกต์
สำหรับการสั่งการโรงไฟฟ้าภายใน 5 ปีข้างหน้า
รวมทั้งพิจารณาเตรียมพร้อมรับยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี ) ที่คาดว่าจะเป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้น
โดยให้พิจารณาจัดทำฉลากเบอร์ 5 สำหรับอีวีด้วย
เนื่องจากถือได้ว่าเปรียบเสมือน อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน
ทั้งนี้ งาน EGAT Energy
Forum 2017 กฟผ.จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้และประสบการณ์ในงานบริการต่าง
ๆ ของ กฟผ. รวมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการผ่านการประชุมสัมมนาและเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆในกระบวนการผลิตไฟฟ้า
ธุรกิจงานบริการและธุรกิจเชื้อเพลิง รวมถึงแนวทางการพัฒนาการดำเนินงานของ กฟผ. ในยุค Energy 4.0–สำนักข่าวไทย