ทำเนียบฯ 1 พ.ย.-โฆษกประจำสำนักนายกฯ เผย นายกฯ พอใจอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจของไทยดีขึ้น 20 อันดับ เชื่อส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ พร้อมชื่นชมความร่วมมือของทุกฝ่าย เตรียมเร่งพัฒนาจุดอ่อนที่เหลือให้มีประสิทธิภาพ
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พอใจผลการจัดอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจ (Ease of doing business) ประจำปี 2018 ของธนาคารโลกเป็นอย่างมาก โดยประเทศไทยได้รับการจัดอันดับดีขึ้นแบบก้าวกระโดดถึง 20 อันดับ จากอันดับที่ 46 ในปี 2017 มาเป็นอันดับที่ 26 ในปี 2018 ท่ามกลางบรรดาเขตเศรษฐกิจและประเทศทั่วโลกจำนวน 190 ประเทศ และอยู่ในอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย โดยเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของนักธุรกิจทั่วโลกและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
“ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อันดับของไทยดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากอันดับที่ 49 ในปี 2016 เป็นอันดับที่ 46 ในปี 2017 จนก้าวมาอยู่ในอันดับที่ 26 ในปี 2018 ห่างจากมาเลเซียเพียง 2 อันดับ และยังเป็น 1 ใน 10 ของประเทศที่มีการปรับปรุงเพื่อให้เกิดความสะดวกในการประกอบธุรกิจมากที่สุดในปีที่ผ่านมา โดยมีคะแนนรวมเพิ่มขึ้นเป็น 77.44 จากเดิม 72.53 คะแนน” พล.ท.สรรเสริญ กล่าว
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า สำหรับการพัฒนาที่โดดเด่นของไทยมีหลายด้าน เช่น การลดระยะเวลาการจัดตั้งธุรกิจและยกเลิกการประทับตราบริษัทในใบหุ้น การลดขั้นตอนการขอใช้ไฟฟ้า การใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ การออกกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจใหม่ การเพิ่มสิทธิผู้ลงทุนรายย่อยทำให้ฟ้องร้องได้ง่ายขึ้น การสร้างความชัดเจนระหว่างความเป็นเจ้าของกับการกำกับควบคุมบริษัท การตรวจสอบภาษีโดยใช้โปรแกรมบริหารความเสี่ยง การลดภาษีการโอนทรัพย์สิน การใช้ระบบยื่นฟ้องและจ่ายค่าธรรมเนียมศาลผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ การแก้ไขปัญหาการล้มละลาย ฯลฯ
“นายกฯ กล่าวว่าความสำเร็จในแต่ละปีนั้น เกิดขึ้นจากความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย โดยพบว่าส่วนราชการหลายแห่งปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานไปมาก และมีการพูดคุยกับภาคเอกชนมากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทกฎหมายและบริษัทบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจโดยตรง ที่สำคัญคือรัฐบาลมีความจริงใจที่จะสนับสนุนให้การทำธุรกิจของภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศมีความสะดวกรวดเร็วและเป็นประโยชน์มากที่สุด เช่น การปลดล็อกความยุ่งยากต่าง ๆ โดยใช้คำสั่งตาม ม.44 ในเบื้องต้น และจะออกกฎหมายปกติเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป” พล.ท.สรรเสริญ กล่าว
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีแผนที่จะปรับปรุงการบริการอีกหลายเรื่อง เช่น กำหนดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนธุรกิจเป็นอัตราคงที่ ลดค่าธรรมเนียมสำหรับการจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ แก้ไขกฎหมายหลักประกันธุรกิจ ขยายฐานการชำระแบบอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงานประกันสังคม และการพัฒนาระบบ E-filing เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการยื่นแบบและชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลของกรมสรรพากร ฯลฯ.-สำนักข่าวไทย
![](https://imgs.mcot.net/images//2017/11/1509513161086.jpg)