กทม.20 ต.ค.-เริ่มแล้วเทศกาลเจ นักวิชาการแนะกินเจแบบคลีน อย่าหนักแป้งเนื้อสัตว์เทียมและลดหวาน มัน เค็ม ห่วงน้ำหนักพุ่งโรคถามหา เน้นกินผัก ผลไม้ปลอดภัย ถั่ว เต้าหู้โดยปรุงแบบต้ม อบ นึ่ง โซเดียมต่ำ
พญ.วรวรรณ ชัยลิมปมนตรี เลขาธิการเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า การกินเจถือเป็นเรื่องดีได้บุญ แต่อย่าลืมว่าการเลือกกินอาหารเจ จำเป็น ต้องพิถีพิถัน เพราะอาหารเจบางร้านทำจากแป้งล้วน ๆ และเนื้อเทียม กุ้งเทียม ปลาเทียมนั้นก็อันตรายแป้งเยอะ คนที่มีปัญหาความดัน เบาหวาน หากบริโภคมากจะส่งผลต่อโรคที่เป็นอยู่ได้ จึงแนะนำว่าควรเลือกทานผัก ผลไม้ และอาหารประเภทถั่ว ที่ปรุงโดยการต้ม นึ่ง มากกว่าทอดหรือผัด และที่สำคัญยุคนี้เป็นยุคอาหารจานด่วน หลายพื้นที่บริโภคอาหารต้มก็จริงแต่โซเดียมสูง ปรุงรสจัด โดยเฉพาะคนสูงอายุ คนป่วยโรคหัวใจ โรคไต โรคเบาหวานหากซื้ออาหารหรือปรุงอาหารเองต้องดูด้วยว่าการใส่ซีอิ๊วหรือซอสปรุงรสอยู่ในปริมาณที่เหมาะสมไม่สูงมากจนเกินไป
“เมนูแนะนำ ผลไม้สด หรือสลัดผัก ผลไม้ ต้มจับฉ่ายอย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน ตามคำแนะนำองค์การอนามัยโลก และให้บริโภคโปรตีนเต้าหู้สูงๆ เนื่องจากกินโปรตีนสูงแล้วป้องกันอาการโหยได้ หากไม่กินมากพอจะทำให้หิวตลอดเวลา คนกินเจจะอยากอาหารและไม่อิ่มท้องจะหันไปกินขนมขบเคี้ยว ขนมทอด กินน้ำอัดลม พวกนี้จะส่งผลเสียทั้งต่อสุขภาพ ทั้งนั้น เช่น น้ำหนักขึ้นหรือเคยติดชินกัยบพฤติกรรมการบริโภคและแก้ปัญหายากเมื่อเข้าสู่การกินแบบปกติ หรือถ้าหิวจริง ๆ ต้องกินของว่างตลอดเวลา แนะนำว่าควรกิน ถั่วแดง กล้วยอบ มันม่วง หัวเผือก ที่ผ่านการต้มสุก จะเห็นว่ากินเจก็กินแบบคลีนได้นะ คนที่นิสัยกินปกติแล้วรสจัดด้วยแต่มาเข้าแผนกินเจใหม่ๆ หมอห่วงเรื่องเดียว คือกินเค็ม (โซเดียม) เกิน เติมไปจนชินมือ หรือพอกินน้ำปลา น้ำส้มไม่ได้ก็ลุยน้ำอัดลมแทนเพราะหิวระหว่างวัน ซึ่งออกกำลังกายได้ก็แก้ได้ไม่มากหากสะสมโซเดียวมในร่างกายมากเกินไป” พญ.วรวรรณกล่าว
ด้านนายสง่า ดามาพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการและที่ปรึกษากรมอนามัย กล่าวว่า การบริโภคเจในช่วงวัยต่างๆ เด็กเล็กวัยประถม หรือก่อนอนุบาลเป็นวัยต้องการนมและสารอาหารที่ครบถ้วนเพื่อใช้ไปส่งเสริมสร้างพัฒนาการต่อสมองและร่างกาย โดยเฉพาะนมเป็นอาหารที่เด็กไม่ควรขาดจึงยังไม่ควรร่วมกินเจในวัยนี้
ส่วนกลุ่มที่กินเจได้จะเริ่มตั้งแต่วัยมัธยมเป็นต้นไป มีคำแนะนำ 4 ประเด็น คือ 1. ทุกมื้อต้องกินให้ครบ 5 หมู่ ส่วนแหล่งโปรตีนให้ทานได้จากพืช ซึ่งเต้าหู้จะมีปริมาณโปรตีนสูง แต่ถ้าจะมีอาหารทานเล่นแนะนำเป็น ขนมไทย ทำจากถั่ว เช่น ลูกชุบ เต้าส่วน ถั่วกวน ถั่วแปบ ถั่วเขียวในน้ำตาลทรายแดง น้ำเต้าหู้ เป็นต้น
2. อยากให้ระมัดระวังเรื่องความสะอาด แนะนำให้ล้างผักผลไม้ด้วยน้ำเปล่า หรือล้างด้วยวิธีแช่น้ำส้มสายชู นาน 15 นาที แล้วล้างน้ำเปล่าตาม เพื่อช่วยลดสารเคมีตกค้างหรือ ยาฆ่าแมลง
3. การกินอาหารเจ คือ ไม่หวานจัด มันจัด เค็มจัด
4. เนื้อเทียม ที่ทำเลียนแบบเนื้อสัตว์ อดีตทำจากโปรตีนเกษตร สกัดจากถั่วแต่บางบริษัททำจากแป้งล้วน ๆ มีคาร์โบไฮเดรตสูง เช่น แป้งสาลี ควรดูฉลากให้ดีเสียก่อนที่จะซื้อมาทำกิน และหลายประเภทใส่กลิ่น ใส่สี ใส่สารชูรส เพื่อให้เหมือนกับเนื้อสัตว์ให้มากที่สุด จึงค่อนข้างอันตรายสำหรับผู้รักสุขภาพ ดังนั้นผัก ผลไม้และเต้าหู้ จึงเป็นตัวเลือกที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพมากกว่า .-สำนักข่าวไทย