กรุงเทพฯ 19 ต.ค. – สศค.
เผยร่างพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝากฉบับใหม่ ผ่านการพิจารณาของสนช.แล้ว เร่งปรับแก้ การจ่ายเงินคืนลูกค้าธนาคารที่ปิดกิจการ เร็วขึ้น
จากเดิมไม่เกิน 160 วัน เหลือไม่เกิน 30 วัน
นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน
ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)
เปิดเผยความคืบหน้าการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (ฉบับที่ ..)
พ.ศ. …. (ร่างพระราชบัญญัติฯ) ว่า ขณะนี้ได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
(สนช.) วาระ 2 และ 3 แล้ว
โดยได้รับความเห็นชอบให้ตราเป็นกฎหมายในการประชุม สนช. ครั้งที่ 61/2560 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 ตุลาคม 2560 แล้ว
โดยมีสาระสำคัญได้ปรับแก้ ให้การจ่ายเงินคืนลูกค้าธนาคารที่ปิดกิจการให้สามารถทำให้เร็วขึ้น
จากเดิมไม่เกิน 160 วัน เหลือไม่เกิน 30 วัน
โดยเริ่มทยอยคืนในวันทำการวันแรกนับจากหลังวันที่ธนาคารประกาศปิดกิจการ
และธนาคารสามารถระดมเงินจากแหล่งอื่นทั้งแหล่งเงินทุนในและต่างประเทศมาจ่ายคืนได้
และต้องกู้ไม่เกินสัดส่วนหนี้ที่กองทุนคุ้มครองเงินฝากที่เก็บจากสถาบันการเงินต่างๆ
อยู่แล้วในอัตราร้อยละ 0.4 เหลือร้อยละ 0.01 หรือ ประมาณปีละ 1,200 ล้านบาท
ซึ่งเป็นการเปิดช่องทางกรณีเงินกองทุนไม่เพียงพอ
แต่ขณะนี้มีเงินในกองทุนคุ้มครองเงินฝากประมาณ 1.2 แสนล้าน
ถือว่าเพียงพอที่จะสามารถรองรับเหตุการณ์ธนาคารปิดกิจการได้
และสถาบันการเงินของไทยยังมีสถานะที่แข็งแกร่งมาก
ซึ่งจะมีผลทางกฎหมายทันทีที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา
ส่วนความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบประจำเดือนกันยายน
2560 พบว่า สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์
ได้รับความสนใจจากภาคประชาชนเป็นอย่างมาก
และมีการกระจายตัวครอบคลุมเกือบทุกจังหวัดทั่วประเทศ นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559
ซึ่งกระทรวงการคลังเปิดให้ผู้สนใจยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์
ถึงสิ้นเดือนกันยายน 2560 มีนิติบุคคลยื่นคำขออนุญาต 369 ราย ใน 63 จังหวัด
โดยจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตมากที่สุดตามลำดับ ได้แก่ นครราชสีมา 40 ราย
กรุงเทพมหานคร 32 ราย และร้อยเอ็ด 27 ราย ทั้งนี้
มีผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจแล้ว 153 ราย ใน 46 จังหวัด ซึ่งในจำนวนนี้
ได้เปิดดำเนินการแล้ว 83 ราย ใน 36 จังหวัด และมีผู้ปล่อยสินเชื่อแล้ว 51 ราย ใน
32 จังหวัด
ทั้งนี้ ณ เดือนสิงหาคม 2560
มีสินเชื่ออนุมัติสะสม 1,859 บัญชี เป็นเงิน 58.58 ล้านบาท
หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่ออนุมัติเฉลี่ย 31,513.61 บาทต่อบัญชี
ซึ่งการอนุมัติสินเชื่อประกอบด้วย สินเชื่อแบบมีหลักประกัน 1,336 บัญชี เป็นเงิน
42.91 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 73.25 ของจำนวนสินเชื่อที่อนุมัติ
และสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกัน 523 บัญชี เป็นเงิน 15.67 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ
26.75 ของจำนวนสินเชื่อที่อนุมัติ ยังไม่มีสถิติสินเชื่อค้างชำระเกินกว่า 3 เดือน
(NPL) โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังจะเริ่มลงพื้นที่ตรวจสอบและให้คำแนะนำการประกอบธุรกิจของผู้ได้รับอนุญาต
ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไป
เพื่อกำกับดูแลการประกอบธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมาตรฐาน
และเป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขของกระทรวงการคลัง
ด้านการดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมาย
สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังคงกวดขันจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบและผู้ติดตามทวงถามหนี้โดยวิธีการผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง
โดยผลการดำเนินการสะสมของปีงบประมาณ 2560 ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2560
มีการจับกุมผู้กระทำผิด 1,499 คน.-สำนักข่าวไทย
![](https://imgs.mcot.net/images//2017/10/1508402433273.jpg)