มุกดาหาร 5 พ.ค. – กรมปศุสัตว์เผย พบเชื้อแอนแทรกซ์ในซากวัว รวมถึงเขียงและมีดที่ใช้ชำแหละ พร้อมเก็บตัวอย่างดินมาตรวจสอบพบเชื้อปนเปื้อนจากการชำระล้าง ยังคงร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขสอบสวนโรค โดยไม่ตัดประเด็นการปนเปื้อนของเชื้อในสิ่งแวดล้อม ล่าสุดมีผู้ติดเชื้อแล้ว รวม 3 ราย โดยรายแรกเสียชีวิต ส่วนอีก 2 รายมีอาการติดเชื้อทางผิวหนัง เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล กรมปศุสัตว์เข้มงวดการเคลื่อนย้ายสัตว์เข้า-ออกพื้นที่และฉีดวัคซีนให้สัตว์กลุ่มเสี่ยงแล้วกว่า 1,000 ตัว ขณะที่จังหวัดมุกดาหารเตรียมออกประกาศเป็นเขตโรคระบาดสัตว์ชั่วคราว
นายสัตวแพทย์บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ให้ประชุมกับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามการสอบสวนโรคและมาตรการควบคุมโรคแอนแทรกซ์ซึ่งเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2568 พบผู้ติดเชื้อในตำบลเหล่าหมี อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร โดยผู้ป่วยเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา
ในที่ประชุม ทางกระทรวงสาธารณสุขแจ้งว่า พบผู้ป่วยอีก 2 ราย ซึ่งเป็นการติดเชื้อทางผิวหนังเช่นเดียวกับผู้ป่วยรายแรก โดยมีไข้และมีตุ่มพอง ขณะนี้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะแถลงความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อไป
กรมปศุสัตว์ได้สอบสวนโรคด้วยการเก็บตัวอย่างเนื้อสัตว์ในตู้เย็นซึ่งมีการชำแหละเมื่อวันที่ 12 เมษายน รวมถึงเก็บตัวอย่างจากสัตว์ร่วมฝูงที่อยู่ใกล้จุดชำแหละซาก ผลการตรวจไม่พบเชื้อ แต่ผลการเก็บตัวอย่างจากเขียงและมีด รวมถึงจากดินบริเวณที่ล้างเครื่องมือชำแหละ ให้ผลเป็นบวก สอดคล้องกับผลตรวจของกระทรวงสาธารณสุขที่ได้เก็บจากซากวัว โดยได้รับแจ้งจากชาวบ้านในภายหลังว่า มีวัวตายและนำไปฝัง จึงขุดซากมาเก็บตัวอย่างส่งห้องปฏิบัติการ พบเชื้อ
ขณะนี้แม้จะพบซากสัตว์ที่ติดเชื้อ แต่ยังไม่แน่ชัดว่า เป็นการติดจากสัตว์สู่สัตว์โดยตรง เนื่องจากตรวจสอบพบว่า การนำโคฝูงใหม่เข้ามาในพื้นที่ ได้นำเข้ามากว่า 1 เดือนแล้ว เมื่อตรวจสอบย้อนกลับ ต้นทางก็ไม่พบการเกิดโรค ดังนั้นยังไม่ตัดประเด็นความเป็นไปได้ว่า เชื้ออาจปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม เช่น ทรายที่นำมาถมพื้นที่ใกล้จุดเกิดโรค ซึ่งเป็นทรายที่ดูดมาจากแม่น้ำแล้วนำมากองใกล้กับบ้านที่พบซากโคติดเชื้อแอนแทรกซ์
รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ระบุว่า แม้จะพบเชื้อในซากสัตว์และดินบางจุด แต่สถานการณ์ยังอยู่ในพื้นที่จำกัดภายในหมู่บ้านและไม่พบการระบาดออกนอกพื้นที่
ด้านมาตรการควบคุมโรค กรมปศุสัตว์ให้สัตว์ใน 3 คอกที่อยู่ติดจุดชำแหละได้รับยาปฏิชีวนะต่อเนื่อง 5 วัน และดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคในรัศมี 5 กิโลเมตร แล้วกว่า 1,000 ตัว พร้อมดำเนินการพ่นยาฆ่าเชื้อในพื้นที่ และวางแผนทำลายเชื้อในดินบริเวณที่ตรวจพบ โดยขุดผิวหน้าดิน ผสมยาฆ่าเชื้อและฝังกลบที่ระดับความลึกไม่น้อยกว่า 2 เมตรเนื่องจากเชื้อแอนแทรกซ์ (Anthrax) เกิดจาก แบคทีเรีย Bacillus anthracis ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่สร้างสปอร์ (spore) ที่มีความทนทานสูงมาก สามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่น ที่ดินได้นานหลายสิบปี
นอกจากนี้ ได้ตั้งจุดควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์และอยู่ระหว่างการเสนอให้จังหวัดมุกดาหารประกาศพื้นที่เป็นเขตโรคระบาดชั่วคราว เพื่อสนับสนุนการควบคุมโรคให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร
นายสัตวแพทย์บุญญกฤชย้ำแก่เกษตรกรว่า หากพบสัตว์ป่วยหรือสัตว์ตายผิดปกติ โดยเฉพาะโค กระบือ แพะ หรือแกะ ควรสังเกตอาการ เช่น มีไข้สูง ซึม เบื่ออาหาร มีเลือดออกทางจมูก ปาก หรือทวาร ซากสัตว์บวมผิดปกติ เลือดที่ออกมีลักษณะสีเข้มและแข็งตัวช้า อาจเข้าข่ายติดโรคแอนแทรกซ์ ห้ามเคลื่อนย้ายหรือชำแหละสัตว์ และแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์หรืออาสาปศุสัตว์ในพื้นที่ทันทีเพื่อเข้าตรวจสอบและควบคุมโรคทันที .512 – สำนักข่าวไทย