ทำเนียบรัฐบาล 4 พ.ค.- นวัตกรรมใหม่ครั้งแรกของโลก “รพ.ศิริราช” ผลิตกระดูกข้อสะโพกไทเทเนียม 3 มิติ ช่วยให้ผู้ป่วยที่เดินไม่ได้มีโอกาสกลับมาเดินได้อีกครั้ง
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า “โรคข้อสะโพกเสื่อม” เป็นภาวะที่เกิดจากการที่ผิวข้อสะโพกถูกทำลายจากหลายปัจจัย อาทิ ผู้ป่วยใช้ร่างกายอย่างหนักเป็นเวลานาน สะโพกผิดรูปแต่กำเนิด เกิดการติดเชื้อ รวมถึงมีประวัติการเกิดอุบัติเหตุ ทำให้เกิดอาการปวดในขณะเคลื่อนไหวร่างกาย หรือบางรายที่มีอาการรุนแรงอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน สถิติจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในปี 2566 มีกลุ่มผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป การพลัด ตก หกล้มทำให้เสียชีวิตสูงถึง 10.20 คน ต่อประชากรผู้สูงอายุแสนคน และในแต่ละปีการพลัดตกหกล้มได้คร่าชีวิตผู้คนถึง 684,000 ราย จากการสำรวจสุขภาพประชากรไทย พบว่า 1 ใน 3 “กลุ่มผู้สูงอายุ” คือกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากที่สุดสำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ให้ผลการรักษาที่ดี ซึ่งการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวมีข้อจำกัดสำคัญ นั่นคือ ผู้ป่วยต้องมีกระดูกเบ้าสะโพกที่สมบูรณ์เพื่อให้ข้อสะโพกเทียมสามารถยึดติดได้อย่างมั่นคงในระยะยาว แต่ในกรณีที่มีอาการกระดูกเบ้าสะโพกแตกหรือสึกกร่อนร่วมด้วยนั้น ผู้ป่วยจะไม่สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ข้อเทียมชนิดปกติ อาจจะต้องยอมรับภาวะทุพพลภาพ ดังนั้น โรงพยาบาลศิริราช ได้ดำเนินการผลิตกระดูกเบ้าสะโพกเทียมด้วยเทคโนโลยี 3D printing และนำไปใช้ผ่าตัดผู้ป่วยจริงสำเร็จเป็นครั้งแรก ถือเป็นก้าวสำคัญของวงการแพทย์และนวัตกรรมไทย
“ความก้าวหน้าของนวัตกรรมในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ช่วยให้ผู้ป่วยที่เคยหมดหวังสามารถกลับมาเดินได้อีกครั้ง แต่ยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการแพทย์ไทย ที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รัฐบาลขอชื่นชมคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล และพันธมิตรที่ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์ และช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามีชีวิตที่มั่นคงอีกครั้ง โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารได้ที่ Facebook : ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล” นายคารม กล่าว.-312 -สำนักข่าวไทย