กทม. 28 เม.ย. – “กรมฝนหลวง” เร่งปฏิบัติการฝนเทียม รับมือภัยแล้งทั่วประเทศ หลังเกษตรเริ่มได้รับผลกระทบ แหล่งเก็บน้ำหลักหลายแห่งลดลงอย่างน่ากังวล
นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเกษตร ที่เริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูแล้ง ทำให้ประชาชนหลายพื้นที่กำลังเดือดร้อน โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีความจำเป็นต่อการใช้น้ำ เพื่อหล่อเลี้ยงพืชผลทางการเกษตร หลังสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงและปริมาณน้ำในแหล่งเก็บน้ำหลักหลายแห่งลดลงอย่างน่ากังวล
นายอิทธิ กล่าวว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้วางแผนและจัดกำลังเจ้าหน้าที่รวมถึงเครื่องบินฝนหลวงออกปฏิบัติภารกิจในพื้นที่วิกฤต โดยเน้นพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรง อาทิ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และบางส่วนของภาคกลาง โดยมีการติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดผ่านระบบเรดาร์ดาวเทียมและข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาเพื่อให้สามารถเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมในการขึ้นบินกระตุ้นเมฆและสร้างฝนได้อย่างแม่นยำซึ่งที่ผ่านมาเริ่มเห็นผลในหลายพื้นที่โดยเฉพาะบริเวณที่มีความชื้นเพียงพอและเอื้ออำนวยต่อการก่อตัวของเมฆ
ซึ่งตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกลำไย อย่าง นายพสิษฐ์ สุขสวัสดิ์ ประธานแปลงใหญ่จังหวัดลำพูน เปิดเผยว่าลำไยเป็นพืชเศรษฐกิจหลักสำคัญของจังหวัดลำพูน ซึ่งสิ่งสำคัญและจำเป็นที่สุดคือเรื่องน้ำ เพราะเรียกได้ว่า “ลำไย” จำเป็นต้องใช้น้ำในทุกช่วง ตั้งแต่การตัดแต่งกิ่ง , การให้ปุ๋ยจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต เรียกว่าตลอดระยะเวลา 7 เดือน ลำไยเป็นพืชผลทางการเกษตรที่จำเป็นต่อการใช้น้ำเป็นอย่างมากในช่วงฤดูฝนเกษตรกรผู้ปลูกลำไยจะมีแหล่งน้ำของตัวเองที่จะช่วยเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งหรือช่วงฝนทิ้งช่วง ซึ่งเกษตรกรจำเป็นต้องใช้น้ำเก็บกับอย่างประหยัดที่สุดแต่บ่อยครั้งที่ฤดูแล้งหนักน้ำเก็บกักไม่เพียงพอต่อการดูแลสวนลำไยเกษตรกรในพื้นที่ก็จะต้องร้องขอฝนเทียมไปที่กรมฝนหลวงและการบินเกษตรเพื่อให้ช่วยทำฝนเทียมในพื้นที่ที่ต้องการ ซึ่งต้องบอกว่า “ได้ฝนตามสั่งและตรงจุด” วันนี้เกษตรกรผู้ปลูกลำไยในจังหวัดลำพูนรู้สึกขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะ “น้ำ” ถือว่ามีความจำเป็นต่อลำไยมาก ถ้าน้ำดี ฝนดี การดูแลจากภาครัฐดี เกษตรกรก็จะยิ้มแย้มแจ่มใส เพราะพืชผลทางการเกษตรทุกชนิดจำเป็นต้องใช้ “น้ำ”
ด้านนายราเชน ศิลปะรายะ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า เมื่อเกษตรกรประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ กรมฝนหลวงจะเร่งเข้าไปให้ความช่วยเหลือทันที หลังได้รับแจ้งจากอาสาสมัครฝนหลวงกว่า 1,000 คนทั่วประเทศ ซึ่งทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาแทนพี่น้องประชาชน ตัวอย่างเช่น ที่อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ปีที่ผ่านมาพบปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับปลูกข้าว กรมฝนหลวงได้ส่งเครื่องบินเข้าปฏิบัติการ ทำให้ฝนตกกว่า 120 มิลลิเมตรในวันแรก และสามารถช่วยให้ชาวนาเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทันฤดูกาล แม้งบประมาณจะมีจำกัด แต่กรมฝนหลวงยืนยันว่า ความเดือดร้อนของประชาชนต้องมาก่อน พร้อมเดินหน้าภารกิจตามพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 และสืบสานต่อยอดโดยรัชกาลที่ 10 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและประเทศชาติอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้การปฏิบัติการฝนหลวงยังมีเป้าหมายเพื่อเติมน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่เริ่มมีระดับน้ำลดลงต่ำกว่าค่ามาตรฐาน ซึ่งหากปล่อยไว้อาจส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกของเกษตรกรและการผลิตน้ำประปาในหลายพื้นที่
กรมฝนหลวงยังย้ำว่าการทำฝนเทียมไม่ใช่ทางออกเดียวในการแก้ปัญหาภัยแล้ง แต่เป็นเพียงหนึ่งในมาตรการที่ช่วยบรรเทาสถานการณ์ในระยะสั้น พร้อมเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนในระยะยาว รวมถึงการส่งเสริมการใช้น้ำอย่างประหยัดในภาคครัวเรือนและภาคเกษตรกรรม ทั้งนี้ กรมฝนหลวงจะประเมินสถานการณ์เป็นระยะ และพร้อมขยายการปฏิบัติการไปยังพื้นที่อื่นๆ หากพบว่ามีแนวโน้มขาดแคลนน้ำในระดับที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชน .-สำนักข่าวไทย