วอชิงตัน 9 เม.ย. – บริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพในสหรัฐอ้างว่าประสบความสำเร็จในการฟื้นคืนชีพ ‘หมาป่าไดร์วูล์ฟ’ (Dire Wolves) สุนัขป่าสายพันธุ์หนึ่งซึ่งสูญพันธุ์ไปแล้วตั้งแต่เมื่อ 12,500 ปีก่อน
โคลอสซอล ไบโอไซแอนเซส (Colossal Biosciences) บริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพในสหรัฐอ้างว่าบริษัทฯ สามารถคืนชีพ ‘หมาป่าไดร์วูล์ฟ’ (Dire Wolves) สุนัขป่าสายพันธุ์หนึ่งซึ่งสูญพันธุ์ไปแล้วตั้งแต่เมื่อ 10,000 ปีก่อน ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง โดยหมาป่าที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรม 3 ตัว กำลังเติบโตในสถานที่ปลอดภัยที่ไม่เปิดเผยในสหรัฐ
โดยนักวิทยาศาสตร์ของ โคลอสซอล ไบโอไซแอนเซส ได้เรียนรู้เกี่ยวกับลักษณะเฉพาะที่หมาป่าไดร์วูล์ฟ โดยตรวจสอบดีเอ็นเอโบราณจากฟอสซิล และศึกษาฟันหมาป่าไดร์วูล์ฟอายุ 13,000 ปี ที่ขุดพบในรัฐโอไฮโอของสหรัฐและชิ้นส่วนกระดูกหูชั้นในของสุนัขป่าอายุ 72,000 ปี ที่พบในรัฐไอดาโฮเช่นกัน ซึ่งทั้งสองชิ้นถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ
จากนั้น นักวิทยาศาสตร์ได้นำเซลล์เม็ดเลือดจากหมาป่าสีเทาที่ยังมีชีวิต มาผ่านกระบวนการ ซีอาร์ไอเอสพีอาร์ (CRISPR) เพื่อดัดแปลงพันธุกรรมใน 20 ครั้ง พวกเขาถ่ายโอนสารพันธุกรรมนั้นไปยังเซลล์ไข่ของสุนัขบ้าน เมื่อพร้อมแล้ว ตัวอ่อนจะถูกถ่ายโอนไปยังสุนัขตัวแทน รวมถึงสุนัขบ้านด้วย และ 62 วันต่อมา ลูก
สุนัขที่ดัดแปลงพันธุกรรมก็ถือกำเนิด เป็นตัวผู้ 2 ตัว เกิดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2024 ชื่อ โรมูลัส (Romulus) และ เรมุส (Remus) พี่น้องฝาแฝดที่เชื่อว่ากันว่าเป็นผู้ก่อตั้งกรุงโรมและถูกเลี้ยงโดยหมาป่า และตัวเมีย 1 ตัว ที่เกิดเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2025 ชื่อ คาลีซี (Khaleesi) ลูกหมาป่าทั้งหมดมีขนสีขาว ขากรรไกรเป็นมัด และมีน้ำหนักประมาณ 36 กิโลกรัมแล้ว โดยมีแนวโน้มที่จะมีน้ำหนักถึง 63 กิโลกรัมเมื่อโตเต็มวัย
ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสัตว์ของ โคลอสซอล ไบโอไซแอนเซส กล่าวว่า แม้ว่าลูกสุนัขอาจมีรูปร่างหน้าตาเหมือนกับหมาป่าไดร์วูล์ฟที่ยังเด็ก แต่สิ่งที่พวกมันคงไม่มีวันได้เรียนรู้ก็คือการฆ่าสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ เพราะพวกมันจะไม่มีโอกาสได้ดูและเรียนรู้จากพ่อแม่หมาป่าไดร์วูล์ฟในป่า
อย่างไรก็ดี คอรี แบลดชอว์ ศาสตราจารย์ด้านนิเวศวิทยา จากมหาวิทยาลัยฟลินเดอร์ส ในออสเตรเลีย ยังแสดงความกังขาในเรื่องนี้ โดยระบุว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่จะดัดแปลงข้อมูลทางพันธุกรรมทั้งหมดของสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วนับหมื่นปี เนื่องมาจากหลายปัจจัย รวมถึงดีเอ็นเอที่น่าจะสูญสลายจนไม่สามารถสกัดนำออกมาใช้งานได้อีก
ก่อนหน้านี้ โคลอสซอล ไบโอไซแอนเซส ซึ่งก่อตั้งบริษัทตั้งแต่ปี 2021 ได้ประกาศโครงการที่คล้ายกันนี้ เพื่อดัดแปลงพันธุกรรมเซลล์จากสปีชีส์ที่มีชีวิต เพื่อสร้างสัตว์ที่คล้ายกับแมมมอธขนฟู นกโดโด และสัตว์อื่นๆ ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว.-815.-สำนักข่าวไทย