สงขลา 9 ต.ค. – นักวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พบแมลงสาบทะเลชนิดใหม่ของโลก ซึ่งถือเป็นสัตว์ทะเลที่เป็นห่วงโซ่อาหารลำดับต้นๆ และเป็นดัชนีชี้วัดความหลากหลายทางชีวภาพของน่านน้ำไทย
แมลงสาบทะเล หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ Cirolana Phuketensis ที่ ดร.เอกนรินทร์ รอดเจริญ อาจารย์ประจำภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และทีมนักวิจัย ค้นพบครั้งแรกบริเวณชายฝั่งทะเลแหลมพันวา จ.ภูเก็ต และได้นำไปศึกษาวิจัยพบว่า เป็นแมลงสาบทะเลชนิดใหม่ของโลก ที่เพิ่งได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ หรือวารสาร ZooKeys เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งจากการศึกษาพบว่า Cirolana Phuketensis ชนิดนี้มีการแพร่กระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณทะเลชายฝั่งอันดามัน ซึ่งจะมีลักษณะพิเศษ คือ รูปร่างคล้ายแมลงสาบ มีขนาดเล็กประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร และมีตุ่มบริเวณปล้องอกปล้องสุดท้าย เชื่อมต่อไปยังปล้องท้องและหาง ซึ่งแมลงสาบทะเล ถือเป็นสัตว์กลุ่มเดียวกับกุ้งและปู ที่พบได้ทั่วไป ทั้งตามชายฝั่งไปจนถึงท้องทะเลลึก และจะอาศัยในแหล่งน้ำทะเลที่สะอาด เป็นห่วงโซ่อาหารลำดับต้นๆ ของสัตว์ชนิดอื่นในทะเล ช่วยย่อยสลายซากพืช ซากสัตว์ อาหารของแมลงสาบทะเล ทำให้ระบบนิเวศมีความสมดุลมากขึ้น และเป็นตัวประเมินความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศที่พบ
ดร.เอกนรินทร์ ผู้ค้นพบ บอกว่า สนใจและเริ่มศึกษาวิจัยเกี่ยวกับแมลงสาบทะเลของไทย ทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน รวมทั้งในทะเลสาบสงขลา มานานกว่า 5 ปีแล้ว และพบว่ายังมีแมลงสาบทะเลอีกจำนวนมากที่ยังไม่สามารถระบุชนิดได้ จึงหันมาศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ที่ผ่านมาได้ค้นพบแมลงสาบทะเลชนิดใหม่ของโลกแล้ว 6 ชนิด และยังมีที่ค้นพบใหม่อีก 6 ชนิด ซึ่งยังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย เพื่อยืนยันว่าเป็นชนิดใหม่ของโลกอีกหรือไม่. – สำนักข่าวไทย