กรุงเทพฯ 4 ต.ค.-การจัดสร้างประติมากรรมประกอบพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีการใช้หลักแนวคิดตามคติความเชื่อไตรภูมิ และมีหลักการจัดวางที่สอดคล้องกันกับงานสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ และยังเป็นประติมากรรมที่มีรูปแบบตามแบบสมัยรัชกาลที่ 9
พระเมรุมาศงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระเมรุมาศทรงบุษบก 9 ยอดบนชั้นฐานชาลาย่อมุมไม้สิบสอง ปิดผิวประดับด้วยไม้อัด กรุกระดาษทองย่นตกแต่งลวดลาย แต่ละชั้นมีประติมากรรมแตกต่างกันแต่สื่อความหมาย จากการตีความเชิงสัญลักษณ์ตามผังภูมิจักรวาล เรื่องไตรภูมิตามคติพุทธศาสนา อันมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง เป็นที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ บุษบกประธานของพระเมรุมาศ จึงเปรียบดั่งยอดเขาพระสุเมรุ
อาคารบุกษกโดยรอบ คือ เขาสัตตบริภัณฑ์ เป็นที่มาแนวคิดหลักการจัดสร้างประติมากรรมประกอบครั้งนี้ ปรากฏตั้งแต่ชั้นฐานพระเมรุมาศ หรือลานอุตราวรรต มีสระอโนดาตทั้งสี่ทิศเปรียบดั่งเชิงเขาพระสุเมรุ ภายในประดับประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ และมีสัตว์มงคลประจำ 4 ทิศ ได้แก่ ช้าง ทิศเหนือ โค, ทิศใต้ ม้า, ทิศตะวันตก สิงห์, ทิศตะวันออก และทั้งสามชั้นชาลาประดับเทวดายืนรอบพระเมรุมาศ เชิญพุ่มโลหะและเชิญฉัตร และเทวดานั่งเชิญฉัตรและบังแทรก ประติมากรรมแต่ละชิ้นมีความหมายเฉพาะตัว เป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงสวรรค์ชั้นภูมิต่างๆ
ชาลาชั้นที่ 1 มีคชสีห์ ราชสีห์ ประจำอยู่ทุกทิศ ส่วนที่มุมทั้งสี่ของฐาน มีประติมากรรมท้าวจตุโลกบาลประทับยืนหันหน้าเข้าบุษบกองค์ประธาน ฐานชาลาชั้นที่ 2 ที่โดดเด่นคือ ประติมากรรมครุฑยืน ความสูง 2 เมตร ประดับด้านทิศเหนือ ใต้ และตะวันออก สื่อความหมายเป็นพาหนะของพระนารายณ์ ส่วนที่ฝั่งทิศตะวันตก ประดับประติมากรรมพระพิฆเนศ 2 องค์ คือ พระพิเนกและพินาย กายเป็นมนุษย์ มีเศียรเป็นช้าง รูปทรงใหญ่สง่างาม ประทับยืนแบบนาฏยโขน สื่อถึงความสมบูรณ์ในรัชสมัย
ที่ชั้นที่ 3 รอบฐานบุษบกประธานประดับประติมากรรมเทพชุมนุม และมีประติมากรรมมหาเทพ โดยแนวคิดการจัดวางและรูปแบบประติมากรรม สำนักช่างสิบหมู่อิงแบบมาจากภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวัดพระแก้ว รวมถึงภาพจากสมุดจิตรกรรมภาพในสมุดไทย ส่วนประติมากรรมรูปหล่อเทพ เทวดา สัตว์มงคลประจำทิศ และสัตว์หิมพานต์ อิงต้นแบบจากปราสาทพระเทพบิดร วัดพระแก้ว และเป็นครั้งแรกที่มีการปั้นฐานรองประติมากรรมที่มีรูปแบบงดงามและสื่อความหมาย
ครั้งนี้มีประติมากรรมประดับพระเมรุมาศรวมกว่า 600 ชิ้น ที่เมื่อนำมาจัดวางเห็นภาพรวม ร้อยเรียงเรื่องราวตามคติโบราณ และการจัดวางประติมากรรม ที่ได้ยึดเอาแนวคิดเรื่องคติจักรวาลเข้ามาผนวกเช่นเดียวกันกับการจัดวางผังของสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ ประกอบเป็นพระเมรุมาศ 9 ยอด ที่มีความสมบูรณ์แบบและพิเศษในทุกองค์ประกอบ.-สำนักข่าวไทย