ก.ยุติธรรม 25 ก.พ. – บอร์ดคดีพิเศษ เริ่มถกรับคดีฮั้ว สว. เป็นคดีพิเศษ กรรมการมา 19 จาก 22 คน ขาด 3 คน คือ ผบ.ตร. และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เป็นประธานประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ครั้งที่ 2/2568 ที่ห้องประชุม ชั้น 10 กระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ โดยนายภูมิธรรม ได้บอกกับผู้สื่อช่าวสั้นๆ ก่อนเข้าประชุมว่า “15 เสียง” จากนั้นการประชุมเริ่มขึ้นโดย พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานเลขานุการคณะกรรมการคดีพิเศษ รายงานว่า วันนี้ (25 ก.พ.) มีกรรมการเข้าร่วมประชุมทัเงหมด 19 คน จากทั้งหมด 22 คน ขาด 3 คน เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง 1 คน และกรรมการผุ้ทรงคุณวุฒิ 2 คน โดยนายภูมิธรรม ประธานการประชุม ได้กล่าวเปิดการประชุมว่า ครบองค์ประชุม และให้นำวาระการตรวจสอบการเลือก สว.มาเป็นวาระแรกในการพิจารณา โดยขอให้ดูข้อกฎหมาย และเชื่อในดุลยพินิจของกรรมการแต่ละคน เปิดโอกาสให้เต็มที่ ให้ฝ่ายเลขาฯ คือดีเอสไอได้นำเสนอให้ฟังชัดๆ ให้กรรมการได้พิจารณาออกความเห็นได้เต็มที่ เพื่อให้เที่ยงธรรม
สำหรับกรรมการโดยตำแหน่งที่ไม่เข้าร่วมประชุมและไม่ได้ส่งผู้แทน คือ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน ตามระเบียบ ไม่สามารถส่งผู้แทนร่วมประชุมได้ อย่างไรก็ตามกรรมการโดยตำแหน่งส่วนใหญ่ไม่ได้มาเอง แต่ส่งผู้แทนเข้าประชุม ได้แก่ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ อัยการสูงสุด และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ส่วนที่เดินทางมาร่วมประชุมด้วยตนเอง ได้แก่ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และปลัดกระทรวงมหาดไทย
โดยการประชุมคดีพิเศษวันนี้ นอกจากเรื่องสืบสวนที่ 151/2567 กรณีการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภาที่มีกระบวนการ หรือพฤติการณ์ที่มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ซึ่งมีพฤติการณ์อันอาจเป็นความผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 และประมวลกฎหมายอาญา ยังมีอีกวาระเสนอขอเป็นคดีพิเศษคือ เรื่องสืบสวนที่ 9/2568 กรณี การทุจริตสวมสิทธิ์ยางพาราไทย กระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและความมั่นคงของเกษตรกรไทย
สำหรับการประชุมของบอร์ดคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) เพื่อมีมติเห็นชอบรับเป็นคดีพิเศษจะใช้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 หรือ 15 เสียง หรือกึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ให้เป็นคดีพิเศษ
รายงานข่าวเปิดเผยว่า มีแนวโน้มสูงที่คดีการตรวจสอบการเลือก สว. จะถูกรับเป็นคดีพิเศษ เนื่องจากกฎหมายคดีพิเศษเปิดช่องให้อำนาจกับบอร์ดพิจารณารับไว้ตรวจสอบได้ ประกอบกับดีเอสไอมีหลักฐานหลายส่วนที่จะเปิดให้ที่ประชุมรับทราบ. -119-สำนักข่าวไทย